ปฎิวัติ “OTOP- SME” พุ่งเป้า 1 ใน 10 ผู้ส่งออกอาหารโลก
“เป้าหมาย ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกอันดับที่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก และศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพของอาเซียน”
นี่คือทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันอาหารในปี 2563 ด้วยการนำทัพของ นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหารคนใหม่ ที่เข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ที่ถือว่าเป็นลูกหม้อกระทรวงอุตสาหกรรมอีกหนึ่ง เพราะก่อนที่จะขยับมานั่ง ผอ.สถาบันอาหาร นางอนงค์ ดำรงเคยดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปี 2559 – 2560 , รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2560-2561 และผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ปี2561-2562
นางอนงค์ บอกภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ว่า สถาบันอาหาร เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูประยะ 10 ปี สู่ภาคปฏิบัติ เป็นนโยบายหลักรับช่วงต่อจากมาตรการครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งในปีนี้ (2563) จะมุ่งเน้นการยกระดับผู้ประกอบการอาหาร 2 ส่วน ได้แก่
ผู้ประกอบการระดับ SME ที่มีอยู่เกือบ 1 หมื่นราย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) และในส่วนของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนหรือ OTOP ที่มีอยู่กว่า 1 แสนราย ซึ่งเป็นพลังหลักในการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง(Inclusive Growth Engines)
ทิศทางการทำงานในปี 2563 จึงมุ่งเน้นกิจกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างนวัตกรรมด้านอาหาร เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการในแต่ละระดับอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความพร้อมในการลงทุนของผู้ประกอบการ เน้นนวัตกรรมที่ทำได้ทันที ด้วยเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในกลุ่มอาหารอนาคต(Future Food)
ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ อาหารวีแกน อาหารนักกีฬา อาหารผู้สูงอายุ อาหารเด็ก การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรและของเหลือ เช่น การผลิตไซรัปจากข้าว รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่ช่วยลดต้นทุน ลดขั้นตอน เพื่อตอบโจทย์ลดการใช้แรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น
และที่เป็นเรื่องใหม่ของปีนี้คือ การทุ่มเทบุคลากรให้กับการศึกษาวิจัยการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชง ซึ่งสถาบันอาหารมีความพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดแก่ผู้ประกอบการในทุกมิติ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งด้านงานวิจัย กฎหมาย การค้า การพัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณสาร CBD ซึ่งเป็นสารสกัดจากกัญชง ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆ ของกัญชง การถ่ายทอดเทคโนโลยี การอบรมเผยแพร่ความรู้ โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเตรียมความพร้อมหลังกฎหมายปลดล็อค
ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยให้กับผู้ผลิตและผู้ให้บริการอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกระดับ ตั้งแต่วิสาหกิจชุมชน Street Food Food Truck โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจบริการอาหาร สถานที่ให้บริการอาหารแก่คนหมู่มาก เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์อาหาร เป็นต้น
และเพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอาหารสู่ Smart Factory สถาบันอาหารได้มีการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายด้านเทคโนโลยีกับหน่วยงานชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อเป็นทางลัดในการพัฒนาและถ่ายทอด ให้ผู้ประกอบการได้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าถึง และนำมาปรับใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ผลจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนด้านเครื่องจักรแปรรูปอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปีนี้ สถาบันอาหารจัดเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการให้บริการแบบครบวงจร จากการจัดตั้ง Food Industrial Transformation Center ใน 2 จังหวัด คือ กรุงเทพ และจังหวัดสงขลา ที่พร้อมให้บริการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ การผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อทดลองตลาด โดยสายการผลิตได้รับการรับรองสถานที่ผลิตอาหาร(อย.)
และยังมีบริการออกแบบโรงงาน ผังกระบวนการผลิต การขออนุญาตขึ้นทะเบียน การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและมาตรฐานประเทศคู่ค้า การประเมินอาหารใหม่ (Novel food) การตรวจวิเคราะห์ด้านห้องปฏิบัติการ การทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ การจัดทำแผนธุรกิจ และการวิจัยตลาด เป็นต้น
ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอาหารไทย เผยแพร่อัตลักษณ์อาหารไทย และศักยภาพการเป็นครัวของโลกผ่าน ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage) ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม มีพื้นที่สำหรับจัดอบรมสัมมนา จัดงานเลี้ยง และกิจกรรมต่างๆ ขนาดความจุสูงสุดถึง 250 ที่นั่ง รวมถึงห้องสำหรับการสอนทำอาหาร (Culinary Class) ห้องสาธิตหรือเปิดตัวสินค้า (Demonstration Room) ที่มีฟังก์ชั่นการให้บริการรูปแบบต่างๆ ที่ยืดหยุ่นได้ไว้ให้บริการอีกด้วย
“ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยทุกระดับเข้มแข็ง เป็นนักรบเศรษฐกิจที่มีความพร้อมจะก้าวสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น จากระดับชุมชนสู่ภูมิภาค จากระดับภูมิภาคสู่ประเทศ และจากระดับประเทศสู่สากล เพื่อเป้าหมายการเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก และศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพของอาเซียน”
อย่างไรก็ดี ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกอันดับที่ 11 มีมูลค่าส่งออก 33,100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 2.51 ขยับจากปี 2561 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 12
และเมื่อเทียบกับ 5 ประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยอินเดียอยู่อันดับที่ 3 อินโดนีเซียอันดับที่ 4 เวียดนาม อันดับที่ 5 และมาเลเซีย อันดับที่ 6
ด้วยภารกิจหลัก ที่ “นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์” ผู้อำนวยการสถาบันอาหารคนใหม่ วางไว้ เชื่อว่า เป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยขยับมาอยู่ในลำดับ 1 ใน 10 ผู้ส่งออกอาหารของโลกจึงไม่น่าไกลเกินเอื้อ.