ผลการเจรจา RCEP เปิดตลาดสินค้าเสรี
การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 6 ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา
รัฐมนตรีทั้ง 16 ประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มประเทศ ASEAN 10 ประเทศ และ คู่ภาคี อีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีความเห็นร่วมกัน โดยยืนยันหลักการให้มีการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา อาทิ การกำหนดให้มีการเปิดตลาดสินค้าในระดับ 90-92% ของรายการสินค้าทั้งหมด เพิ่มความเข้มข้นในการหารือแลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องและข้อเสนอ
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวพร้อมบอกต่อว่า ในส่วนการเปิดตลาดบริการ ที่ประชุมสามารถตกลงหลักการการเจรจากฎเกณฑ์การผูกพันกฎหมายในระดับที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการปฏิบัติกับแต่ละประเทศอย่างเท่าเทียมกัน และได้กำหนดให้มีการยื่นเปิดตลาดรอบสุดท้าย ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561
“ที่ประชุมรัฐมนตรีฯ รับทราบผลการประชุมรอบพิเศษในระดับคณะกรรมการเจรจา เมื่อวันที่ 7-9 ตุลาคม 2561 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการติดตามความคืบหน้าการเจรจาเปิดตลาด หลังจากที่ประเทศสมาชิกได้ยื่นข้อเสนอเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน รอบก่อนข้อเสนอสุดท้ายแล้ว ซึ่งมีความคืบหน้าใกล้ได้ข้อสรุปมากขึ้น”
นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้ให้แนวทาง การเจรจาประเด็นนโยบายในบทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง (STRACAP) และบทการแข่งขัน โดยมอบหมายให้คณะทำงานหารือประเด็นด้านเทคนิคในข้อบทดังกล่าว เช่น หัวข้อ Audit หัวข้อ Certification และหัวข้อ Import Check ซึ่งเป็นประเด็นด้านเทคนิคต้องใช้เวลาในการอธิบายและแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติของแต่ละประเทศ เพื่อให้มีความเข้าใจบนพื้นฐานเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมตั้งเป้าหมายให้สรุปทั้ง 3 บท ภายในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ สมาชิกอาร์เซ็ปทุกประเทศได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถสรุปการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญภายในปีนี้ โดยตั้งเป้าหมายให้สรุปผลการเจรจาด้านการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน และสรุปข้อบทด้านกฎเกณฑ์ 7 – 8 บท ตามเป้าหมายความสำเร็จการเจรจาในปีนี้ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการสรุปผลการเจรจา โดยเฉพาะในสถานการณ์การค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้สามารถสรุปได้แล้ว 4 บท ได้แก่ 1.บทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 2.บทการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 3.บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และ 4.บทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
โดยไทยได้ยืนยันว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า จะร่วมมือกับสมาชิกผลักดันให้สามารถสรุปผลการเจรจาทั้งหมด และสามารถลงนามได้ภายในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปีหน้า ซึ่งที่ประชุมได้ขอให้ไทยหารือกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานในปี 2562 ต่อไป
นอกจากนี้ อาร์เซ็ปจะเดินหน้าจัดการประชุมเต็มรอบระดับเทคนิคครั้งสุดท้ายของปีนี้ ระหว่างวันที่ 18-27 ตุลาคม 2561 ณ เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเร่งสรุปผลการเจรจาให้ได้ตามเป้าหมาย และคาดหวังว่าผู้นำจะสามารถประกาศสรุปผลการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญได้ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ สิงคโปร์ อีกทั้งเร่งเดินหน้าสรุปการเจรจาทั้งหมดภายในปี 2562 ซึ่งไทยจะถือโอกาสที่นั่งเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าเร่งผลักดันการเจรจาอาร์เซ็ป เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้
ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปถือว่าเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคนของประเทศสมาชิกในภูมิภาค ครอบคลุมมูลค่าการค้าโลกกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29% ของมูลค่าการค้าโลก ครอบคลุมประเด็นทางการค้าการลงทุนที่หลากหลาย ทันสมัย และร่วมมือกันในเชิงลึก
“การเจรจาอาร์เซ็ปมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และใกล้บรรลุผลสำเร็จ จึงขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการจับตาติดตามสถานการณ์การเจรจาความตกลงอาร์เซ็ปจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างใกลัชิด พร้อมทั้งเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากความตกลง โดยในด้านการค้าสินค้า การสะสมถิ่นกำเนิดจะทำได้กว้างขวางขึ้นในสมาชิก 16 ประเทศ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ตลาดประเทศสมาชิกได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งยังมีระดับความผูกพันภายใต้ AIFTA ค่อนข้างต่ำ” รมช.พาณิชย์กล่าวทิ้งท้าย