“ชะตากรรมมาเลเซีย…แอร์ไลน์ “!!
“ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีมาเลเซีย แอร์ไลน์ ผู้คนจำนวนมากคงไม่รู้สึกว่าอะไรสูญหายไป” ถ้อยคำพูดของซูกอร์ ยูซูฟ
ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยรับปรึกษาด้านการบิน “เอ็นดัว” ของมาเลเซีย ชี้ถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นแก่มาเลเซีย แอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติของมาเลเซีย
วันที่ 8 มี.ค. 2559 ผ่านพ้นห้วงเวลาครบรอบ 2 ปี ปริศนาเที่ยวบิน MH 370 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER เส้นทางบินกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปกรุงปักกิ่ง พร้อมผู้โดยสารจาก 15 ชาติ จำนวน 227 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนกับมาเลเซียและลูกเรือชาวมาเลเซียอีก 12 คน รวม 239 ชีวิต หายสาบสูญหลังทะยานขึ้นบินออกสู่ทะเลจีนใต้ได้ไม่ถึง1 ชั่วโมงเมื่อ 8 มี.ค.ปี 2557
เชื่อกันว่า เที่ยวบิน MH 370 ถูกนำพาออกนอกเส้นทางบินแล้ววกลงใต้ไปตกมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ บริเวณห่างจากชายฝั่งภาคตะวันตกของออสเตรเลียเกือบ 2,000 กม.
หลักฐานเครื่องบินที่พบและพอเชื่อถือได้ว่าอาจเป็นชิ้นส่วนเที่ยวบิน MH 370 จนถึงวันนี้มีเพียงชิ้นเดียว คือชิ้นส่วนปีกเครื่องบินขนาด 2 เมตร ถูกพบลอยติดชายฝั่งเกาะเรยูนิยง อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ 29 ก.ค.ปีที่แล้ว ส่วนชิ้นส่วนเครื่องบินบริเวณหางขนาดราว 1 เมตร เพิ่งถูกพบลอยติดชายฝั่งประเทศโมซัมบิค อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ทวีปอัฟริกาเมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค. กับชิ้นส่วนเล็กๆอีกชิ้นถูกพบบริเวณเกาะเรยูนิยง ยังไม่ยืนยันชัดเจนเป็นเศษซากจากเที่ยวบิน MH 370 ใช่หรือไม่
ภารกิจค้นหาซากเครื่องบิน MH 370 ดำเนินการในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้กว้างขวางมากราว 120,000 ตารางกิโลเมตร ภารกิจลุล่วงแล้วราว 3 ใน 4 ส่วน พื้นที่กว้างขวางดังกล่าวมีระดับลึกราว 6 กม. ทั้งยังเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชันใต้ทะเลและกระแสน้ำใต้ทะเลไหลแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยภารกิจค้นหาซากเครื่องบินนำโดยรัฐบาลออสเตรเลียและใช้งบประมาณดำเนินการไปแล้วมากกว่า130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 4,450 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซีย ระบุการพบหลักฐานส่วนปีกเครื่องบินชิ้นหนึ่งบริเวณหมู่เกาะเรยูนิยง อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสทางตอนใต้มหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนก.ค.ปีท่ีแล้ว ทำให้ภารกิจค้นหาซากเครื่องบินดำเนินการต่อไปจนถึงกำหนดภายในปลายปีนี้ ทั้งๆที่กำหนดการเบื้องต้นหากไม่พบหลักฐานอะไรเลยจะยุติภารกิจค้นหาภายในเดือนมิ.ย.ปีนี้
คำถามที่ยังค้างคาใจชาวโลกคือ ถ้าพบซากเครื่องบินใต้ทะเลลึกแล้วจะทำอย่างไร
คำตอบจากหัวหน้าคณะทำงานตามหาซาก MH 370 จากออสเตรเลียบอกว่าถ้าซากเครื่องบินอยู่ลึกใต้ผิวน้ำมากกว่า 6.5 กม.คงนำขึ้นมาไม่ได้ทั้งหมด แต่ต้องพยายามกู้ “กล่องดำ” บันทึกข้อมูลการบินและคำสนทนาของนักบินกับหอควบคุมการบินขึ้นมาให้ได้ เพื่อใช้เป็นแนวทางวิเคราะห์สาเหตุเครื่องบินตก
และอีกคำถามคือ แล้วข้อมูลในกล่องดำจะช่วยไขปริศนาเครื่องบินตกได้หรือไม่และอย่างไร
คำตอบเรื่องนี้อาจพบปัญหา เพราะกล่องบันทึกข้อมูลการสนทนาของนักบินกับหอบังคับการบินมีรอบการบันทึกข้อมูลจำกัดนานแค่ 2 ชั่วโมงเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่เที่ยวบิน MH 370 เชื่อแน่ว่าบินเดินทางนานกว่า 2 ชั่วโมงก่อนพบจุดจบ ทำให้ข้อมูลบันทึกรอบแรกอาจถูกลบไปแล้ว ปัญหานี้ทำให้ระเบียบข้อบังคับใหม่ของเครื่องบินโดยสารผลิตตั้งแต่ 1 ม.ค.ปี 2564 กล่องบันทึกเสียงสนทนาของนักบินต้องบันทึกได้ยาวนานถึง 25 ชั่วโมง
แม้สาเหตุการหายสาบสูญของเที่ยวบิน MH 370 จากหลายทฤษฎี รวมถึงนักบินฆ่าตัวตายและเครื่องบินถูกจี้ก่อการร้าย ทำให้ต้องบินลอยละล่องออกนอกเส้นทางบินจนเชื้อเพลิงหมดตกทะเลยังไม่สรุปชัด ท่ามกลางข่าวลือต่างๆนานาก็ไม่ได้รับการยืนยัน ทำให้เหล่าญาติพี่น้องของผู้โดยสารเที่ยวบิน MH 370 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ต่างพากันเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียคืนบุคคลอันเป็นที่รักให้กับพวกตนและบอกความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างโปร่งใส ทั้งยื่นเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีกันวุ่นวาย
หนักหนาไม่น้อยขั้น “โคม่า” คือสถานการณ์ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ ต้องเสี่ยงเผชิญสภาพขาดทุนล้มละลายตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุเที่ยวบิน MH 370 หายสาบสูญตั้งแต่ 8 มี.ค. ตามด้วยความสูญเสียตอกย้ำกับเหตุเครื่องบินโดย สารโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH 17 ประสบเหตุตกเหนือน่านฟ้ายูเครนระหว่างเที่ยวบินกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์มายังกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนมิ.ย.หรือราว 3 เดือนหลังจากนั้น คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือบนเที่ยวบินทั้งหมดอีก 298 ศพ ฉุดดึงมาเลเซีย แอร์ไลน์ให้ตกต่ำลงห้วงเหวลึกยิ่งขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2554 มาเลเซีย แอร์ไลน์ เผชิญสภาพย่ำแย่รุนแรงสูญเสียรายได้มากกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าข่ายใกล้ล้มละลายจนต้องปฏิรูปองค์กรเปลี่ยนตัวผู้บริหารคนใหม่ คือ นายคริสตอฟ มุลเลอร์ ชาวเยอรมนี ถือเป็นผู้บริหารชาวต่างชาติคนแรกของสายการบิน รับตำแหน่งเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว
แนวนโยบายนายมุลเลอร์ เริ่มสั่งยกเลิกเที่ยวบินที่ไม่ก่อผลกำไร ลดจำนวนพนักงาน 6,000 ตำแหน่ง เพิ่มยกระดับบริการใหม่ๆบนเที่ยวบิน อาทิ เปลี่ยนเมนูอาหารบนเที่ยวบินให้ทันสมัยสากลยิ่งขึ้น เพิ่มบริการไว-ไฟบนเที่ยวบินทุกเที่ยว ทั้งเพิ่มที่นั่งเกือบนอนราบ (Lie – flat – seat) สำหรับผู้โดยสารชั้นนักธุรกิจบนเครื่องบินหลายลำ
นอกจากนั้น มาเลเซีย แอร์ไลน์ โฉมใหม่ยังพยายามหยุดใช้เครื่องบินโดยสารรุ่นเก่า โดยเฉพาะโบอิ้ง 777 และแอร์บัส เอ – 380 เครื่องบินโดยสารลำใหญ่ยักษ์ที่สุดของโลก เพื่อลดภาระด้านเชื้อเพลิง โดยหันมาใช้เครื่องบินโดยสารขนาดเล็กลง อาทิ โบอิ้ง 737s และสั่งซื้อเพิ่มเครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ 350s รุ่นใหม่ล่าสุดในแวดวงสายการบินยุคใหม่เพิ่มอีก 4 ลำ ผนวกอาศัยชื่อชั้นด้านความปลอดภัยของสายการบินมาเลเซียที่อยู่อันดับต้นๆของโลก (ก่อนเกิดเหตุร้าย 2 ครั้ง) หวังใช้เป็นจุดขายสำคัญเรียกลูกค้า
แต่แนวทางดำเนินการทั้งหมดทั้งหลายแหล่ที่ว่ามาข้างต้น ยังไม่อาจฉุดดึงสภาพง่อนแง่นของมาเลเซีย แอร์ไลน์ขึ้นมาได้จากห้วงเหวลึก เพราะการก้าวผงาดของเหล่าสายการบินชั้นประหยัด “โลว์ คอสต์” เพิ่มขึ้นมากมายยิ่งกว่าดอกเห็ดหน้าฝน โดยเฉพาะสายการบินสัญชาติมาเลเซีย “แอร์เอเชีย” สายการบินไลออนของอินโดนีเซีย สายการบินไทเกอร์ แอร์ของสิงคโปร์ สายการสกู๊ต แควนตัสและเจ็ตสตาร์ของอินเดียกับอีกมากมาย ต่างพากันช่วงชิงตลาดลูกค้านักเดินทางคนชนชั้นกลางไปอย่างเมามันดุเดือด
ทำให้การปรับแผนใหม่ล่าสุดของมาเลเซีย แอร์ไลน์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว คือ ฝากอนาคตส่วนหนึ่งของเที่ยวบินผูกติดโยงกับ “แอร์ เอมิเรตส์” หนึ่งในสายการบินยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หวังดึงเครือข่ายลูกค้าเที่ยวบินผ่านเข้าออกสนามบินนครรัฐดูไบ ยกเลิกเที่ยวบินตรงสู่กรุงปารีสกับกรุงอัมสเตอร์ดัมส์ ทำให้มาเลเซีย แอร์ไลน์ มีเที่ยวบินออกนอกย่านเอเชีย – แปซิฟิก เพียง 2 ที่หมาย คือกรุงลอนดอน กับนครเจดดาห์ของซาอุดิอาระเบีย
…ยังไม่รู้ชัดว่ายุทธศาสตร์ใหม่มาเลเซีย แอร์ไลน์ จะได้ผลดีมากน้อยเพียงใด กาลเวลาจะให้คำตอบ?