สำรวจค่าครองชีพ และค่าแรงขั้นต่ำใน AEC
ช่องทางทำมาหากินเดี๋ยวนี้ไม่หาไม่ได้ง่ายๆ เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว เพราะมีคู่แข่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ซึ่งวันนี้มีตัวเลขอยู่ที่ราวๆ 7,400 ล้านคน (www.worldometers.info/world-population)
ขณะที่สถิติเด็กเกิดใหม่ก็ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดโดยเฉลี่ยเป็นจำนวนมากถึง 200,000 คนต่อวันเลยทีเดียว แค่นั้นยังไม่พอ มนุษย์รุ่นใหม่ยังตายช้าลงอีกต่างหาก เพราะมีหยูกยาทันสมัยช่วยยืดวัยชราออกไปได้อีกนับสิบปี เมื่อต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันอยู่บนโลกใบเก่าขนาดเท่าเดิม และยังไม่มีวี่แววจะหาโลกใบใหม่ได้ มวลมนุษยชาติคงต้องได้เผชิญกับภาวะประชากรล้นโลกในอนาคตอันใกล้อย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้คงถึงเวลาที่ต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว และตราบใดที่คนเรายังเคยชินกับการบริโภคสมบัติจากธรรมชาติกันเป็นหลักเช่นนี้ อนาคตก็คงไม่สดสวย เพราะเมื่อจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแออัด ก็จะแย่งกันกินแย่งกันใช้ ไปเร่งการใช้ทรัพยากรให้ร่อยหรอเร็วยิ่งขึ้นจนเกิดการขาดแคลนในที่สุด แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นสิ่งที่ชาวโลกต้องเผชิญก็คือปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นๆ แบบชนิดที่พอได้ขึ้นแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าจะยอมลดลงกลับมาสู่จุดเดิมอีก
ในบ้านเราก็เป็นเช่นนั้น จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีๆ ทำให้คนไทยต้องใช้ชีวิตแข่งขันทำมาหากิน หรือต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมากขึ้น ไม่ต่างกับชาวโลกทั้งหลาย ขณะเดียวกันก็ไปสร้างความมั่งคั่งมหาศาลให้กับเหล่าบรรดามหาเศรษฐีที่มีจำนวนไม่ถึง 1% ของประชากรโลก ให้รวยล้นฟ้ากันจนแทบจะทะลุชั้นบรรยากาศ เพราะจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น=จำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ย้อนกลับไปในสมัยที่ราคาน้ำมันพุ่งพรวดถึงลิตรละ 50 บาทเมื่อราว 7-8 ปีก่อน จนทำให้เกิดภาวะกระชากค่าครองชีพกันโดยถ้วนหน้าอันเนื่องมาจากราคาอาหารการกินที่สูงขึ้นตามราคาค่าขนส่งนั่นเอง ซึ่งเวลานั้นได้สร้างความกังวลให้กับโครงการอาหารโลก อย่าง WFP (World Food Programme) หนึ่งในหน่วยงานของ UN จนต้องมีการออกมาให้ข้อมูลน่าตกใจว่า วิกฤติอาหารแพงมหาโหดนั้นช่างรุนแรงไม่ต่างอะไรกับคลื่นสึกนามิเงียบ (Silent Tsunami) ซึ่งคร่าชีวิตผู้หิวโหยทั่วโลกมากถึงวันละ 25,000 ราย และมีแนวโน้มว่าจำนวนคนที่อยู่ในภาวะขาดอาหารเรื้อรังนั้นจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นถึงปีละ 4 ล้านคนเลยทีเดียว
มาถึงวันนี้ ในวันที่มีจำนวนประชากรไทยอยู่ราว 68 ล้านคน และกำลังใช้ชีวิตอยู่ในภาวะน้ำมันดิบโลกล้นตลาดจนฉุดราคาน้ำมันดีเซลลงมาเหลือแค่ลิตรละไม่ถึง 20 บาท แต่ดูเหมือนว่าค่าครองชีพของคนไทยเราจะยังคงติดลมบนจนดูราวกับว่า ไม่ได้รับอานิสงค์ใดๆ จากราคาค่าขนส่งที่ลดฮวบลงเลย สินค้า และบริการส่วนใหญ่นอกจากยังคงราคาเดิมๆ แล้ว ยังรอโอกาสเหมาะๆ ที่จะเพิ่มราคาขึ้นอีกต่างหาก
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น คงต้องลองคำนวณรายจ่ายรายวันของเหล่าบรรดาค่าแรงงานที่มีรายรับวันละ 300 บาท ถ้ามาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่แล้วกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 40-50 บาท หรือซื้อกับข้าวถุงราคา 30-35 บาทนั้น เงินที่หามาได้ครึ่งหนึ่งหมดไปกับเรื่องอาหารการกินเสียแล้ว และถ้าต้องจ่ายค่าเครื่องดื่ม ค่ากาแฟ ค่าขนม ค่าพาหนะ ค่าเช่าบ้าน และค่าน้ำค่าไฟอีก ก็แทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว ถ้าใครมีภาระต้องเลี้ยงดูลูกตาดำๆ ด้วยรายได้เพียงแค่นี้ก็ทำให้หลายๆ คนต้องเข้าไปสู่วงการเงินกู้นอกระบบ กลายเป็นพวกมีหนี้สินรุงรังไปโดยปริยาย ว่าตามสภาพความเป็นจริงแล้ว รายได้ที่พออยู่ได้ในภาวะค่าครองชีพแบบนี้โดยไม่ต้องปากกัดตีนถีบนัก ควรมีตัวเลขอยู่ที่วันละ 500 บาท หรือเดือนละ 15,000 บาท (ซึ่งยากจะยอมรับสำหรับนายจ้าง) ส่วนใครก็ตามที่สามารถหารายได้มากกว่านี้ หรือมีเงินเดือนสูงๆ ถ้าอยากใช้ชีวิตได้สบายๆ อย่างมั่นคงไปจนถึงบั้นปลาย คงต้องเรียนรู้การเก็บออม และวางแผนชีวิตไว้แต่เนิ่นๆ อย่างน้อยๆ ควรมีเงินสำรองค่าใช้จ่ายไว้ใช้ฉุกเฉินเผื่อตกงานสัก 6 เดือน และถ้าในระหว่างวัยทำงานใครที่ไม่สามารถสะสมเงินในบัญชีออมทรัพย์ได้เกินล้านบาท ก็น่าเข้าข่ายคนจนในยุคสมัยนี้ เพราะนี่คือหลักประกันสุขภาพส่วนตัวสำหรับบั้นปลายชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการรักษาโรคที่เข้ามารุมเร้าตามธรรมชาติ
เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา รับค่าแรงขั้นต่ำกันสักเท่าไหร่? ถ้าใครคิดว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้นั้นมันไม่ค่อยจะพอยาไส้เลย และอยากรู้ว่าในแวดวงเพื่อนบ้านอาเซียนนั้น เขารับกันอยู่ซักเท่าไหร่ ข้อมูลในรายงานประจำปี Global Wage Report 2014/15 ของ องค์การแรงงานนานาชาติ (www.ilo.org) ช่วยได้มากเลยทีเดียว เพราะได้แจงตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละประเทศไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นประโยชน์มากสำหรับนักลงทุนข้ามชาติที่ต้องการคำนวนต้นทุนด้านแรงงานแบบคร่าวๆ ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงระดับคุณภาพชีวิตของแต่ละประเทศในกลุ่ม AEC ด้วย
สิงคโปร์เป็นประเทศที่เศรษฐกิจมั่นคงจึงไม่ค่อยมีปัญหาการเรียกร้องแรงงานขั้นต่ำเหมือนกับชาติอื่นๆ ในอาเซียน อัตราเงินเดือนส่วนใหญ่ของพนักงานประจำ เมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ US$ 3,949 หรือราว 140,000 บาท ส่วนค่าแรงขั้นต่ำที่ทางพรรคคนงานสิงคโปร์เสนอให้ตั้งเป็นมาตรฐานนั้นอยู่ที่เดือนละ 1,000 สิงคโปร์ดอลลาร์ หรือราว 25,000 บาท
บรูไน เป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรแค่ 4 แสนกว่าคนแต่มั่งคั่ง ชาวบ้านชาวเมืองก็เลยไม่ออกมาเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำกันนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังต้องอาศัยแรงงานต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ และมักมีการตกลงราคาค่าแรงกันเองระหว่างนายจ้างและนายหน้าจัดหาแรงงาน ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติอยู่ในบรูไนมากถึงเกือบ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากร หรือราว 80,000 คน โดยส่วนมากเป็นแรงงานจากอินโดนีเซีย ส่วนอันดับที่ 2 รองลงมานั้นก็ได้แก่ แรงงานจากฟิลิปินส์ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราเงินเดือนขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ 14,000 บาท
มาเลเซีย ในระหว่างปีนี้คงมีการปรับขึ้นค่าแรงครั้งใหญ่ เพราะทางรัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบ และลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ โดยการสนับสนุนแรงงานท้องถิ่นด้วยการเพิ่มค่าแรงจากเดือนละ 900 มาเลเซียนริงกิต เป็น 1,000 มาเลเซียนริงกิต หรือราว 8,500 บาท มาเลเซียมีเป้าหมายปรับขึ้นเงินเดือนเช่นนี้ในทุก 2 ปี จนกว่าจะถึงปี 2020 อันเป็นปีที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะให้มีแรงงานต่างชาติคงเหลือในประเทศน้อยที่สุด
อินโดนีเซียมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 34 จังหวัดทั่วประเทศหลังจากไม่ได้ปรับมานานหลายปี โดยจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนราว 11.5 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น เกาะบาหลี ในปีนี้มีการขยับขึ้นค่าแรงจากเดือนละ 1,621,172 อินโดนีเซียนรูเปี๊ยะห์มาเป็น 1,807,600 อินโดนีเซียนรูเปี๊ยะห์ (ราว 4,250 บาท) ขณะที่อัตราเงินเดือนใหม่ของแรงงานในเมืองสุราบายาทางเกาะชวาตะวันออกนั้น เพิ่มขึ้นไปเป็นเดือนละ 3,045,000 อินโดนีเซียนรูเปี๊ยะห์ (ราว 8 พันบาท) เมื่อปรับค่าแรงในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันเช่นนี้ ก็เลยนำไปสู่การประท้วงย่อยๆ ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเวลานี้
ฟิลิปปินส์ ก็เหมือนกับอีกหลายประเทศที่จ่ายค่าแรงในแต่ละพื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของชาวฟิลิปิโนในชนบทเริ่มต้นที่วันละ 235 เปโซ แต่ถ้าเข้ามาทำงานในย่านกลางกรุงมะนิลา ก็จะได้ค่าแรงดีขึ้นเท่าตัวเป็น 481 เปโซ หรือวันละประมาณ 350 บาท ในปีนี้รัฐบาลพยายามจะคงระดับค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่เดือนละ 16,000 เปโซ (ราว 12,000 บาท) โดยไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงใดๆ ภายในปีนี้ และเป็นที่รู้กันไปทั่วว่า นโยบายเพิ่มค่าแรงเช่นนี้ที่มีผลบังคับใช้เฉพาะในเขตเมืองหลวงเท่านั้น
กัมพูชา จากคำสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้เมื่อปลายปีก่อน ในปีนี้คนงานโรงทอผ้าซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่า 700,000 คนทั่วประเทศ จะได้รับอัตราจ้างใหม่เพิ่มขึ้นอีก 9.4% คิดเป็นเงินไทยก็ตกเดือนละประมาณ 5,000 บาท การปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดดในกัมพูชานั้น เริ่มต้นขึ้นโดยกลุ่มสหภาพแรงงานตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน (ซึ่งในได้นำไปสู่เหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้ร่วมประท้วงเสียชีวิต) ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานทอผ้าในเวลานั้น ถ้าเทียบเป็นเงินไทยแล้ว ก็ได้กันแค่เดือนละ 2,500 บาทเท่านั้นเอง
เวียดนาม ในระยะ 2-3 ปีมานี้ เวียดนามพยายามสร้างกฏเกณฑ์ใหม่ในตลาดแรงงาน และในปีนี้รัฐบาลได้อนุมัติให้ขยับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีก 12.4% โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซนด้วยกัน สำหรับแรงงานในโซน 1 (เขตตัวเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้) จะได้รับการขึ้นเงินเดือนจาก 3.1 ล้านด่อง เป็น 3.5 ล้านด่อง หรือราว 5,700 บาท
ลาว ค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่เดือนละ 800,000 กีบ หรือราว 3,500 บาท มีความพยายามจะเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็นเดือนละ 1,400,000 กีบ หรือราว 6,000 บาท แต่ดูเหมือนว่านายจ้างส่วนใหญ่ยังไม่ยินยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสักเท่าไหร่
พม่าค่าแรงขั้นต่ำในพม่านั้นแสนถูก คนงานในโรงทอผ้านั่งทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ได้ค่าแรงเพียง 3,600 จ๊าด หรือประมาณ 100 บาทเท่านั้นเอง และนี่ก็เป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้แรงงานพม่าอพยพเข้ามาหากินในบ้านเราเพิ่มขึ้นทุกปี
ค่าครองชีพไทยเราจัดอยู่อันดับไหนใน AEC จะว่าไปแล้วค่าแรงขั้นต่ำของเรานั้นจัดว่าสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียนเลยก็ว่าได้ แต่จะพอกินพอใช้หรือเปล่าคงต้องพิจารณากันในอีกหลายตัวแปร บางทีมุมมองของชาวต่างชาติที่เข้ามาเยือนเมืองไทยอาจช่วยให้เราเห็นภาพตัวเองชัดขึ้นบ้าง เพราะถ้าอ้างอิงจากเว็บจัดอันดับค่าครองชีพชาวโลกตามหัวเมืองใหญ่ๆ อย่าง Expatistan : Cost of Living index จะพบว่า ภาระค่าครองชีพของชาวกรุงเทพฯ นั้นเบากว่า ชาวเมืองหลวงในสิงคโปร์, บรูไน, เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์, ลาว และกัมพูชา ตามลำดับ แต่สูงกว่าชาวเมืองหลวงของอินโดนีเซีย, มาเลเซียและเวียดนาม ยกตัวอย่างเช่น ราคาอาหารมื้อกลางวันรวมเครื่องดื่มในร้านอาหารย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ ราคา 181 บาท แต่ที่สิงคโปร์ต้องจ่ายประมาณ 322 บาท ขณะที่ชาวกรุงฮานอยจ่ายแค่ราว 75 บาทเอง เมื่อลองตรวจสอบไปที่เว็บจัดอันดับค่าครองชีพอีกแห่ง อย่าง NUMBEO (www.numbeo.com/cost-of-living/compare_countries.jsp) ก็ได้ผลลัพท์ที่คล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันหน่อย ตรงที่บอกว่า ของกินบ้านเราแพงกว่าที่ฟิลิปปินส์เท่านั้นเอง
ถามว่า ข้อมูลเหล่านี้น่าเชื่อถือแค่ไหน ก็ต้องขอบอกว่าพอเชื่อได้ในระดับหนึ่ง เพราะบางเว็บเปิดช่องให้ชาวต่างชาติที่มีโอกาสไปเยือนในแต่ละประเทศช่วยแจ้งราคาสินค้าเพื่อให้ได้ข้อมูลอัพเดทและใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เท่าที่ลองสำรวจดูราคาค่าครองชีพของชาวกรุงเทพฯ คร่าวๆ พบว่าราคาไข่ไก่ใบใหญ่ยุคท่านนายกฯประยุทธ์ที่แจงไว้ในเว็บ Expatistan ราคาโหลละ 71 บาท หรือเฉลี่ยฟองละประมาณ 5 บาทกว่าๆ นั้น ถือว่าค่อนข้างตรงตามราคาท้องตลาดในกทม.วันนี้เลย (www.expatistan.com/cost-of-living/bangkok) แม้ว่าเราอาจจะไม่ใช้ประเทศที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดในเอเชีย แต่ถ้าเทียบกันในมาตรฐานความเป็นประเทศไทยแล้วถือว่าค่าครองถูก และน่าอยู่มากๆ สำหรับชาวตะวันตก ยืนยันได้จากผลสำรวจของ International Living ผู้มากด้วยประสบการณ์ในการให้คำแนะนำแก่ชาวต่างชาติวัยเกษียณมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งเคยจัดอันดับให้ไทยก็ติดอันดับ 1 ใน 5 เมืองสวรรค์ของคนวัยเกษียณที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดในปีที่แล้ว (http://internationalliving.com/2015/03/five-top-retirement-havens-with-the-lowest-cost-of-living) โดยแนะนำให้เลือกไปใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะราคาค่าที่พัก และราคาอาหารต่อมื้อสำหรับ 2 คนถูกมาก แถมยังหาซื้อผักสดออร์แกนิกส์ตามตลาดสดได้ง่ายอีกต่างหาก ในเมืองก็เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสารพัด ชนิดอยากได้อะไรก็หาได้เกือบทุกสิ่ง (โดยมีเวียดนามเข้าติดอันดับในกลุ่มนี้ด้วย ด้วยค่าครองชีพที่แสนประหยัดเพียงแค่เดือนละ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับคู่ชีวิตวัยเกษียณ)
มาถึงตรงนี้ก็อยากจะบอกว่า ไม่ว่าปีนี้เราจะต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพขนาดไหน ขอให้รู้จักอดออม และหมั่นดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เท่านี้ก็รับรองว่าจะฝ่าฟันทุกสิ่งไปได้อย่างมีความสุข ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น จงภูมิใจเถิดว่า บ้านเรานั้นเป็นอู่ข่าวอู่น้ำ มีตำแหน่งเป็นถึงผู้ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลกรายสำคัญเลยทีเดียว ถ้ารู้จักใช้ของไทยกินของไทย ให้ถูกต้องตามฤดูกาล ก็ไม่มีอดตายแน่นอน เพราะแต่ละปีจะมีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดมาเลขายให้กินกันในราคาถูกๆ อยู่เรื่อย และคงเป็นเช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน…