วิถีชีวิตชาวไร่กาแฟลาว…ไม่เปลี่ยนแปลง
ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ราวๆ สองทุ่ม ในคืนที่อากาศเย็นสบาย กลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟที่กำลังถูกคั่วกรุ่นไปทั่วทั้งหมู่บ้าน กลิ่นหอมยั่วยวนชวนให้ผู้คนอยากจะจิบกาแฟร้อนสักแก้วนึง และคืนที่กลิ่นกาแฟกระจายไปทั่วทั้งหมู่บ้านแบบนี้ ก็เป็นที่รู้กันของทุกคนในหมู่บ้านว่า “สุขสันต์วันกาแฟ” กำลังเกิดขึ้นแล้ว…
เมื่อเราเข้าไปอยู่ใกล้บ้านคอนกรีตหลังหนึ่ง เสียงพูดคุย หัวเราะกันอย่างสนุกสนานของชาวบ้านดังชัดเจนผสมผสานกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟขจรขจาย
บ้านหลังนี้เป็นของนางเค็ค (Mrs. Khek) วันนี้นางมีญาติจากในเมืองมาเยี่ยม จึงจัดเตรียมอาหารพื้นบ้าน และที่ขาดไม่ได้คือกาแฟสด เพราะที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นหมู่บ้านกาแฟ เนื่องจากทุกครัวเรือนต่างมีอาชีพเป็นชาวไร่กาแฟทั้งสิ้น
ที่นี่คือ บ้านหนองหลวง (Ban Nong Luang) ในเขตปากซอง (Pakxong district) แขวงจำปาสัก (Champassak province) ซึ่งอยู่ห่างจากย่านใจกลางเขตประมาณ 15 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาในการเดินทางไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากถนนหนทางยังไม่ดีนัก เขตปากซอง แขวงจำปาสักนี้ มีแหล่งเพาะปลูกกาแฟที่ได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพจากผู้ปรุงแต่งกาแฟชั้นนำของโลก นั่นก็คือพื้นที่ราบสูงโบโลเวนส์ มีพื้นที่ประมาณ 4,010.60 ตารางกิโลเมตร ใหญ่ที่สุดในเอเซียใต้ ลักษณะดินมีส่วนประกอบของดินภูเขาไฟที่มอดดับแล้ว แต่อุดมด้วยแร่ธาตุเหมาะแก่การเกษตร
บริเวณลานกลางบ้านของนางเค็ค ชาวบ้านหลายคน และแขกผู้มาเยือนต่างนั่งดื่ม และพูดคุยกันตามปกติ เสียงหัวเราะ พูดจาดังออกมาพร้อมๆ กับกลิ่นหอมตลบอบอวลของเมล็ดกาแฟที่กำลังถูกคั่วจากในครัวหลังบ้าน ในครัว หลายๆ คนนั่งล้อมรอบเตาไฟ คุณป้าสูงอายุท่านนึงยังง่วนกับการคั่วเมล็ดกาแฟบนเตาหบายๆ คนที่มานั่งล้อมรอบเตาก็เพื่อรับไออุ่นจากเตาไฟ พร้อมๆ กับถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตให้ผู้มาเยือนฟัง โดยเฉพาะเรื่องราวของการปลูกกาแฟ และวิถีการดื่มกาแฟของพวกเขา
นางเค็ค เล่าให้ผู้มาเยือนฟังว่า ในอดีต ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ นิยมเก็บเมล็ดกาแฟมาคั่ว และบดเพื่อชงดื่มกันเอง แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การทำกาแฟเพื่อชงดื่มกันเองในบ้านเริ่มลดน้อยลง ปัจจุบัน ชาวบ้านต่างหันมานิยมซื้อกาแฟสำเร็จรูปมากกว่าที่จะทำกาแฟดื่มเองแล้ว
นางบอกว่า ที่บ้านก็มีกาแฟสำเร็จรูปติดบ้านไว้หมือนกัน และพูดแบบขำๆ ว่า “เราปลูกกาแฟก็จริง แต่เราก็ซื้อกาแฟสำเร็จรูปไว้ชงดื่มในชีวิตประจำวันเพราะชงง่าย สะดวก”
นางพูดเพิ่มเติมว่า “จะยังไงก็แล้วแต่ ถ้าเรามีงานเลี้ยงที่บ้าน หรืองานฉลอง เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ ฉลองเด็กเกิดใหม่ งานศพ หรืองานเฉลิมฉลองอะไรก็ตาม และมีการรวมตัวเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกัน เราก็จะคั่วเมล็ดกาแฟ และบดเอง แบบที่เรากำลังทำอยู่นี้”
“เวลามีงานต่างๆ หากต้องซื้อกาแฟสำเร็จรูป ก็ต้องใช้จ่ายเยอะ และมันก็เป็นเรื่องสนุกมากกว่าที่จะช่วยกัน ดังนั้นการเตรียมกาแฟจึงเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน” นางกล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม นางรำลึกว่า
“ที่ผ่านมา เรามักจะจัดปาร์ตี้กาแฟ นั่นก็หมายถึงว่าเราได้เก็บเมล็ดกาแฟ คั่ว บด และดื่มกาแฟ เพื่อพูดคุย หัวเราะด้วยกัน โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศหนาว ยิ่งถ้าหากเราไปคั่วกาแฟแถวๆ ย่านชานหมู่บ้าน หมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกหมู่บ้านเราก็จะพลอยได้กลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟไปด้วย”
ระหว่างที่มือยังสาละวนกับการคั่วเมล็ดกาแฟบนเตา นางก็อธิบายว่า “เมล็ดกาแฟที่คั่วเองจะมีรสชาติที่ดี และกลิ่นที่หอมกว่า เพราะมาจากเมล็ดกาแฟล้วนๆ ไม่เจือสิ่งอื่นใด ต่างจากเมล็ดกาแฟที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด อาจจะมีส่วนผสมของเมล็ดอื่นๆ” นางอธิบายเพิ่มเติมว่า
“ความชำนาญในการคั่วเมล็ดกาแฟก็มีส่วนในการสร้างรสชาติของกาแฟเช่นกัน ในการคั่วเมล็ดกาแฟนั้น เราต้องใช้ความร้อนที่เหมาะสม และการคั่วที่ต่อเนื่องแบบไม่หยุดเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ต้องใจเย็น และอดทน” เมื่อเมล็ดกาแฟถูกคั่วด้วยความร้อนจากเตาไฟได้ที่แล้ว จึงนำมาบดโดยใช้ครก และสากตำ
นางเค็ค อายุ 64 ปีแล้ว มีลูก 4 คน นางก็ใช้ชีวิตเฉกเช่นผู้หญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ตื่นแต่เช้าทำงานบ้าน และเตรียมตัวไปทำงานที่ไร่กาแฟของตนเอง
“ฉันตื่นมาหุงข้าวตอนตี 4 ทุกวัน เช็ด ถู ปัด กวาดบ้าน และทำงานบ้านอื่นๆ มันก็ยังมืดอยู่ แต่ก็นอนไม่หลับแล้ว พอถึง 6 โมงเช้า พระอาทิตย์ขึ้น ฉันก็ออกไปรอพระเพื่อใส่บาตร แถวบ้านมีวัดป่าแห่งนึง มีพระมาบิณฑบาตรทุกเช้า พอใส่บาตรเสร็จ ฉันกับลูกสาวก็จะช่วยกันเตรียมอาหารเช้าเพื่อกินก่อนออกไปไร่กาแฟ”
ครอบครัวนางเค็คปลูกกาแฟประมาณ 1,000 ต้นในพื้นที่ที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของกาแฟ “ในช่วงเดือนธ.ค. ถึง มี.ค. ฉันปลูกกาแฟอาราบิก้า บริเวณหลังบ้าน ก็สะดวกในการดูแล หลังจากนั้น ฉันก็ปลูกกาแฟพันธุ์อื่นบนเนินเขาซึ่งต้องเดินทางไปไกลหน่อย”
นางเค็ค บอกว่า การปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในหมู่บ้านที่เธออาศัยอยู่ “การปลูกกาแฟเป็นงานที่หนักกว่าการปลูกข้าว เราต้องทำงานตลอดทั้งปี ระยะเวลาในการเพาะปลูกใช้เวลานาน ตามแต่พันธุ์กาแฟแต่ละชนิด และเราต้องคอยกำจัดวัชพืช และไม้อื่นที่ขึ้นแทรกขึ้นมาอยู่ตลอด”
นางบ่นให้ฟังว่า รายได้จากการปลูกกาแฟก็ไม่มากนัก แค่พอเลี้ยงครอบครัวได้เท่านั้น ผลผลิตจากปีก่อน เราได้เงินประมาณ 10 ล้านกิบส์ (ประมาณ 44,550 บาท) และปีนี้ก็คาดว่ารายได้จะลดลงอีก เนื่องจากราคากลางเมล็ดกาแฟต่ำกว่าปีที่แล้ว
“ปีนี้ ราคาเมล็ดกาแฟคั่วแล้วอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 2,500 กิบส์ (ประมาณ 11 บาท) ในขณะที่ปีที่แล้ว อยู่ที่กิโลกรัมละ 3,500 กิบส์ (ประมาณ 15.60 บาท) ก็เลยคิดว่า ในปีนี้ คงจะมีรายได้แค่ 7-8 ล้านกิบส์ (ประมาณ 31,200-35,650 บาท)”
เมล็ดกาแฟถูกส่งขายให้แก่บริษัทผู้ผลิตกาแฟ และกำหนดราคาโดยบริษัทฯ ทุกปี “ฉันก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมปีนี้ ถึงให้ราคาต่ำแบบนี้” นางพูดอย่างเศร้าสร้อย
ในระหว่างรอบการปลูกกาแฟ ผู้ค้ารายย่อยก็เข้ามารับซื้อเมล็ดกาแฟ และนำไปส่งขายให้แก่บริษัทในตัวเมืองอีกทอดหนึ่ง
“รายได้จากการขายเมล็ดกาแฟ ถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวเรา” เด็กๆ ยังเรียนหนังสือ ในขณะที่อีกสองคนทำงานเป็นไกด์นำเที่ยวและทำอาหารที่ ทรี ท๊อปส์ เอ็กเพลอเรอร์ “เด็กๆ ช่วยฉันทำงานในไร่กาแฟ และหารายได้พิเศษจากการงานนำเที่ยว บางทีก็แบ่งเงินมาให้ฉันบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เพราะพวกเขาก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัว”
ถึงแม้ว่าจะต้องทำงานหนักในไร่กาแฟ แต่นางเค็คบอกว่า เธอมีความสุขกับชีวิต และสนุกกับงานที่เธอทำ “ถึงงานจะหนัก แต่มันก็สนุก” นางพูดยิ้มๆ “ชาวบ้านช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน เวลาฉันจะเก็บเมล็ดกาแฟ มีเพื่อนบ้านมาช่วยกันเก็บมากกว่า 10 คน เมื่อถึงเวลาที่บ้านอื่นจะเก็บ ฉัน สามี และเด็กๆ ก็ไปช่วยบ้านอื่นๆ เก็บ เวียนไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเก็บเสร็จทุกบ้าน การช่วยแบบนี้ ทำให้งานเสร็จเร็ว ได้พูด ได้คุยกันระหว่างเก็บเมล็ดกาแฟ พองานเสร็จ ก็มากินข้าวด้วยกัน”
ถึงแม้ว่าชาวไร่กาแฟแห่งบ้านหนองหลวง จะหันมาดื่มกาแฟสำเร็จรูปแทน จากเดิมที่เคยดื่มกาแฟที่คั่วเอง บดเอง แต่วิถีชีวิตแห่งมิตรภาพ และความมีน้ำใจให้แก่กัน และกัน ยังคงมิแปรเปลี่ยน เฉกเช่นอีกหลายๆ หมู่บ้านในประเทศลาว….