อีอีซีจัดงบปี67 บูรณาการทุกพื้นที่
อีอีซี ยกระดับการทำงานร่วมทุกภาคส่วน จัดทำงบประมาณตามแผนบูรณาการ ปี 67 อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ทุกมิติ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ
การประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะที่ 5.1 ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมพิจารณางบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และนางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน อีอีซี นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า อีอีซี ในฐานะเจ้าภาพหลัก และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเจ้าภาพรองแผนงานบูรณาการ อีอีซี ร่วมกับหน่วยงาน 17 กระทรวง 42 หน่วยงาน จัดทำโครงการ เพื่อ “ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ทุกมิติ ผ่านการมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG” จำนวน 100 โครงการ ด้วย 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล มุ่งเน้นการสานต่อโครงการ EEC Project List อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบคมนาคมและระบบขนส่งสาธารณะ แบบไร้รอยต่อให้ทันสมัย เชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคในพื้นที่ EECd เพื่อดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
2. การพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งพัฒนาทักษะบุคลากร ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สู่การปฏิบัติงานจริง มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่ “มีงานทำ มีรายได้ดี” ควบคู่กับการพัฒนาสถาบันการศึกษาสู่ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน (EEC Networking Center) พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์
3. ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทันสมัย และมีมาตรฐาน เสริมสร้างสุขภาพประชาชนภายใต้บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุม เข้าถึงได้ และมีประสิทธิภาพในการรักษา ลดการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาในพื้นที่อื่น พร้อมทั้งสร้างต้นแบบการขยายบริการสาธารณสุข ด้วยรูปแบบการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน ควบคู่การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ อีอีซี ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การอยู่อาศัย
4. การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาทัดเทียมนานาชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์ธุรกิจ อีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาค มาตรฐานเทียบเท่าสากล รองรับและสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต่อยอดการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ สู่อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง ผลักดันการจัดงานที่มีชื่อเสียงระดับโลก พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) รองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี
5. การส่งเสริมการลงทุนด้านเศรษฐกิจ BCG ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและสร้างการรับรู้สู่ประชาชน ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจระดับสากล นำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงร่วมกันและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณที่คุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่ อีอีซี และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี เกิดอัตราการขยายตัวของ GDP ในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มขึ้น 6.8% ส่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40,000 คน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ฯ) ขอให้ อีอีซี นำบทเรียนและความสำเร็จมาถ่ายทอดให้กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเชิงพื้นที่และเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป