อีอีซี เดินหน้า แผนแม่บทอุตฯการบิน
บอร์ด อีอีซี รับทราบ แผนแม่บทพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน หรือ ATZ ศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาคเอเชีย
ผู้สื่อข่าว รายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อ 4 มิถุนายน 2564 ซึ่งมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน รับทราบความก้าวหน้าโครงการฯ โดย รฟท. เตรียมส่งมอบพื้นที่ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว และพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564
โดยขณะนี้เอกชนได้เข้าพื้นที่ และเริ่มออกแบบเตรียมการก่อสร้าง เช่น งานปรับพื้นที่สำหรับเตรียมก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา งานก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวเพื่อลำเลียงวัสดุ งานก่อสร้างสำนักงานสนาม บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง งานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและการจัดจราจร โดยการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ปี และจะเปิดให้บริการช่วงพญาไท สุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ในปี 2568
ด้านการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา โดยยืนยันว่า ผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ที่สามารถใช้บัตรรายเดือนได้ตามเดิม
นอกจากนี้จะได้รับการยกระดับคุณภาพบริการที่ดีขึ้น อาทิ การปรับเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระ จำนวน 4 ตู้ ให้เป็นตู้รองรับผู้โดยสารแทนได้มากถึง 1,000 คนต่อชั่วโมง ลดการรอคอยขบวนรถไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมปรับปรุงระบบควบคุมการเดินรถ ให้ขบวนรถมาตรงเวลามากขึ้น รวมถึงปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกรอบสถานี เพิ่มห้องน้ำ พื้นที่สีเขียว ระบบแสงสว่าง พัดลมระบายอากาศ
และปรับปรุงระบบจราจร เป็นต้น
รับทราบ ความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการ สนามบินอู่ตะเภา ในส่วนความรับผิดชอบภาครัฐ อาทิ การก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 โดยกองทัพเรือ ซึ่งได้ออกแบบทางวิ่งและทางขับที่ 2 งานทางขับเชื่อมระหว่างทางวิ่ง พร้อมลานจอดศูนย์ซ่อมอากาศยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ทางวิ่งความยาว 3,505 เมตร ทางขับที่เกี่ยวข้อง 6 เส้นทาง อุโมงค์ลอดใต้ทางวิ่ง งานระบบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ทั้งนี้การเตรียมส่งมอบพื้นที่ สกพอ. ได้จัดทำร่างระเบียบการปฏิบัติงานในพื้นที่เขตส่งเสริมฯ สำหรับช่วงการก่อสร้างเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่ งานก่อสร้างระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น สกพอ. ได้ส่งมอบที่ดินที่เช่า และบริษัท บี กริม. ได้เข้าเคลียร์พื้นที่เรียบร้อยแล้ว งานก่อสร้างระบบประปาและระบบน้ำเสีย สกพอ. ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ บริษัท อีสท์วอเตอร์ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างสำรวจสภาพพื้นที่
ส่วนความรับผิดชอบเอกชนคู่สัญญา (UTA) ได้เข้าสำรวจพื้นที่โครงการเรียบร้อย และได้ก่อสร้างรั้วมาตรฐานเขตการบิน (Airside) ความยาว 4.9 กิโลเมตร แล้วเสร็จประมาณ 95% เพื่อรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในช่วงการก่อสร้าง พร้อมจัดทำค่าระดับในพื้นที่โครงการ และกำหนดแนวเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอาคารผู้โดยสารกับสถานีรถไฟความเร็วสูง งานจัดทำแผนแม่บทสนามบินฉบับสมบูรณ์ กำหนดส่งมอบตามสัญญาเดือนมิถุนายน 2564 นี้ โดยงานออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาระดับโลก กลุ่มบริษัท SOM (Skidmore, Owings and Merrill LLP : SOM) เพื่อออกแบบร่างขั้นต้นของอาคาร
ด้าน กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Technical Zone : ATZ) สกพอ. เตรียมพัฒนาพื้นที่ประมาณ 539 ไร่ เพื่อรองรับอตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางพัฒนาธุรกิจด้านอากาศยาน ซึ่งกิจกรรมใน ATZ ที่สำคัญ ๆ เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ให้บริการซ่อมบำรุงเบา/หนัก ดัดแปลงอากาศยาน ศูนย์บริการอะไหล่อากาศยาน ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น ซ่อมบำรุงอุปกรณ์อากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ และที่จอดสำหรับอากาศยานที่เสีย และใช้เวลาซ่อมระยะยาว หรือรอจำหน่าย เป็นต้น
ปัจจุบัน สกพอ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทและวางผังภายในพื้นที่กิจกรรม ATZ และมีแผนจัดทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (International Market Sounding) เพื่อศึกษาภาพรวมตลาดและเชิญชวนนักลงทุนในระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน 2564 ซึ่งการดำเนินการ ATZ คาดว่าจะ เพิ่มอัตราการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 3,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ภาครัฐจากเอกชนที่เข้ามาลงทุน เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาคเอเชีย
นอกจากนั้น ยังรับทราบ สกพอ. ร่วมกับเมืองพัทยา ริเริ่มโครงการก่อสร้างตลาดใหม่ลานโพธิ์นาเกลือ ตามแผนพัฒนาเมืองพัทยา สู่ NEO PATTAYA เพื่อเป็นโครงการนำร่องต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมรักษาความเป็นเมืองเก่าของนาเกลือสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน คู่ไปกับการพัฒนาเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำของอีอีซี โดยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยให้ชุมชน
ปัจจุบันได้ศึกษาและสำรวจแนวคิดจากโครงการที่ประสบความสำเร็จ ปรับการออกแบบผัง แนวคิด ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชุมชน รักษาทัศนียภาพอันเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกสู่อีอีซี
ทั้งนี้ จุดเด่นสำคัญของการพัฒนาโครงการตลาดใหม่ลานโพธิ์นาเกลือ คือ เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐ-ท้องถิ่นและเอกชน สร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ขยายผลไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชนหลังสถานการณ์โควิด 19 และเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้าสู่พื้นที่อีอีซี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนต่อเนื่อง