ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 6-7 ม.ค.2566

ประเด็นร้อนเวลานี้คงหนีไม่พ้น กรณี “การรถไฟแห่งประเทศไทย” จ้างบริษัทเอกชน 33 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

เรื่องที่ 1,697 นักร้องอย่าง “ศรีสุวรรณ จรรยา” ไม่นิ่งดูดาย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน โดยนักร้องดัง ใช้คำว่า “โครตแพงเกินไป” หรือไม่
ที่สำคัญ ชื่อสถานีดังกล่าวได้รับพระราชทานชื่อใหม่มาตั้งแต่เดือน ก.ย.2565 แต่เหตุใดจึงมีการเร่งรีบดำเนินการในเดือน ธ.ค.2565 แล้วมาใช้วิธีการประมูลแบบ “เฉพาะเจาะจง” ทั้ง ๆ ที่ รฟท.สามารถเลือกใช้การประมูลโดยให้มีคู่แข่งในการประมูล ยกเว้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่

อีกคน ส.ส.เต้ มงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไล มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของพรรค รวบรวมข้อมูลราคาการจัดทำและติดตั้งป้ายจากผู้ประกอบการรายต่าง ๆ เพื่อหาราคากลาง สำหรับยื่นต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ในวันอังคารที่ 10 ม.ค. นี้

ด้าน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธานกรรมการ โดยให้รายงานผลการสอบสวนภายใน 15 วัน
จับตา 15 วันนับจากวันที่ 4 ม.ค.66 จะมีอะไรคืบหน้า?

เรื่องที่ 1,698 เมื่อวานนี้ (5 ม.ค.66) ที่รัฐสภามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานประชุม นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามทั่วไป เรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพง ต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ว่า รัฐธรรมนูญหมวด 5 มาตรา 56 ระบุว่า รัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รัฐจะทำการใดๆ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือรัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 50% จะกระทำไม่ได้ และการเรียกเก็บ จะให้เป็นภาระต่อประชาชนไม่ได้ ประชาชนต้องเข้าถึงอย่างเป็นธรรมเสมอภาค แต่ ‘ค่าบริการรายเดือน’ ในบิลค่าไฟ จำนวน 38.22 บาท ในรายละเอียดบอกว่าเป็นค่าพิมพ์บิล , ค่ารักษามิเตอร์ , ค่าจัดส่งเอกสาร ทั้งที่ประชาชนจ่ายค่ามิเตอร์ไปแล้ว เงินประกันก็อยู่ที่การไฟฟ้าแล้ว ส่วนเรื่องบิลเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานจะต้องทำบิลส่งอยู่แล้ว เหตุใดถึงเก็บเป็นค่าบริการอีก
และถามว่า ค่าบริการรายเดือนมีที่มาที่ไปอย่างไร จะจัดการไม่ให้มีได้อย่างไร เพราะไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมกับประชาชน และเป็นการเก็บค่าบริการเกินควร ณ วันนั้น “พี่พงษ์” ก็ตอบแล้วว่า ค่าบริการรายเดือนเป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ดูเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริการ และคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟ รวมทั้งส่วนของมิเตอร์ จะต้องมีการบำรุงรักษาดูแล ถ้ามิเตอร์เสีย การจ่ายไฟจะได้รับผลกระทบ จึงต้องบำรุงรักษา เพื่อไม่ให้มิเตอร์เสื่อมสภาพเร็ว ซึ่งในส่วนนี้มีค่าใช้จ่าย ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ไปตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่ และได้รับการยืนยันว่า เป็นตัวเลขที่เหมาะสม

ล่าสุดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้ถูกพาดพิงได้ทำหนังสือชี้แจงโดยระบุว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล โดยในส่วนของค่าบริการรายเดือน เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการจำหน่ายไฟฟ้า ที่กำหนดจากค่าใช้จ่ายในการอ่านหน่วยเครื่องวัดไฟฟ้า การจัดทำใบแจ้งค่าไฟฟ้า การรับชำระเงินค่าไฟฟ้า ซึ่งจะต้องดำเนินการกับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นประจำทุกเดือน แม้จะมีการใช้ไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม ต้นทุนของค่าบริการรายเดือนไม่ได้มีในส่วนของค่าบำรุงรักษามิเตอร์แต่อย่างใด และกำลังจะปรับลดราคาจากเดิม 38.22 บาทต่อเดือน เป็น 24.62 บาทต่อเดือน ในเดือน ม.ค.นี้ มีคำถามแบบนี้กันบ้างก็ดีนะ ดูสร้างสรรค์และทำให้ประชาชนได้รู้อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อค่าครองชีพของตนเองด้วยครับผม

เรื่องที่ 1,699 ใครว่า ตึกใหม่กระทรวงการคลัง มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท สร้างไม่เสร็จในปีงบประมาณ 2566 ต้องตบปากตัวเองเดี๋ยวนี้ ล่าสุด “พี่นุช-วรนุช ภู่อิ่ม” รองปลัดกระทรวงการคลัง สดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนต.ค. รับปีงบประมาณใหม่พอดี แจ้งว่า ตึกใหม่จะสร้างเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดคือปี2566 และพร้อมเปิดเต็มรูปแบบในปี2567 แถมตั้งเป้าหมายว่า สบน. และสคร. 2 หน่วยงานของกระทรวงการคลังที่เช่าสำนักงานอยู่ภายนอก จะย้ายกลับเข้าคลังมานั่งทำงานที่ตึกใหม่ได้ ในเดือนส.ค.2566

ส่วนปลัดกระทรวงการคลัง “ปลัดพี่ตู่-กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ผู้บริหารสูงสุดของข้าราชการประจำ แม้จะเกษียณปีนี้ ในเดือนก.ย.66 แต่ได้ยินแว่ว “จัดโต๊ะและเก้าอี้” ให้ปลัดพี่ตู่ได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก 2-3 ใบ ในห้องทำงานใหม่ และตึกใหม่ สำหรับปลัดท่านใหม่จะยังไม่ชัดเจนว่า เป็นใคร แต่ขอบอกไว้ก่อน อย่าลืมชวน “อดีตปลัดพี่ตู่” มาถ่ายรูปตึกใหม่เอาไปติดฝาบ้านด้วยครั้งที่ 2 หลังจากที่ฟันฝ่าปัญหานานัปการ
โดยนพวัชร์