สศอ. จัดงานประจำปี OIE FORUM 2022 ชี้ช่องเสริมแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมไทย
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานประจำปี OIE Forum 2022 “Disruptive Change is the New Chance วิกฤตพลิก โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย” เดินหน้ายกระดับความสามารถการแข่งขันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมเร่งผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งขับเคลื่อนการปรับโครงสร้าง ภาคการผลิตเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม หวังเสริมแกร่งศักยภาพอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวในงานประจำปี OIE FORUM 2022 “Disruptive Change is the New Chance วิกฤตพลิก โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ถึงแม้ปัจจุบันสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ แต่ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยยังคงมีทุนทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ มีทรัพยากรที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าตามมาตรฐานสากล และมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการปรับตัวเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ทำให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถนำมาใช้ในการยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เร่งให้เกิดธุรกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาล สร้างงานใหม่ และเพิ่มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมากขึ้น การเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้สินค้าและบริการในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก กระตุ้นให้อุปสงค์สินค้าเกษตรปลอดภัย และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพิ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและใส่ใจกับความยั่งยืนมากขึ้น และ ความยืดหยุ่น หรือ Resilience จะลดการพึ่งพิงการผลิตสินค้าและการนำเข้าจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง และหันมาส่งเสริมการผลิตที่สามารถสร้างสายการผลิตและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นภายในประเทศ นำไปสู่การขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการแห่งอนาคตที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระยะต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเดินหน้าผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตรและยกระดับไปสู่ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมเกษตรแปรรูป นำ Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมชีวภาพ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การแพทย์ครบวงจร ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริม SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสทางการตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการทุกระดับ การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG การพัฒนาอุตสาหกรรมในมิติพื้นที่ เพื่อกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาให้ทั่วถึงและครอบคลุม โดยพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่พัฒนาพิเศษตามนโยบายรัฐบาล และ การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่สะดวกและรวดเร็ว บูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวในงาน OIE FORUM 2022 ว่า ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยได้เร่งดำเนินการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในหลายมิติควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และยังเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูล เชิงลึก จัดทำดัชนีอุตสาหกรรม และระบบชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในปี 2566 น่าจะได้เห็นการขยายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย อาทิ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เช่น รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงยางล้อ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น โดยความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จะขยายตัวดี รวมทั้งความเชื่อมั่นในรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น วงจรรวมและส่วนประกอบ (Integrated Circuit) ตามความต้องการเพื่อใช้กับเครื่องมือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับ IoT รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มเครื่องมือแพทย์ เช่น ถุงมือยาง จากตลาดที่ยังมีความต้องการต่อเนื่องแม้จะชะลอลงบ้างตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย กลุ่มปิโตรเคมี เช่น เม็ดพลาสติก ตามความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ (เช่น บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง การประกอบรถยนต์ และอุปกรณ์การแพทย์) และความกังวลด้านสาธารณสุขหนุนความต้องการผลิตภัณฑ์ อาทิ PE PP และ PET เพื่อผลิตพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) เพิ่มขึ้น เม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ อาทิ ABS ซึ่งใช้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าสูง (Specialty products) เพื่อตอบความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายมีแนวโน้มขยายการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Biodegradable plastics) และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled plastics) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
“การจัดงาน OIE Forum 2022 ภายใต้หัวข้อ“Disruptive Change is the New Chance วิกฤตพลิก โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเสนอมุมมองและแนวคิดปรับตัวของอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและซับซ้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้การจัดงานในครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาและยกระดับความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ ช่วยเติมเต็มศักยภาพอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง พร้อมก้าวสู่การปรับโครงสร้างภาคการผลิตไปสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ยกระดับความสามารถการแข่งขันในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนต่อไป” นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับกิจกรรมการจัดงาน ประกอบด้วยการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “วิกฤตพลิก โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พร้อมด้วยดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และคุณจิรภิญญา ปิติมานะอารี เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดงาน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ ภาพรวมการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหารอนาคต อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,300 คน ทั้งจากผู้เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา และเข้าร่วมผ่านระบบการสัมมนาออนไลน์