เมียนมาเร่งปรับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น
เมียนมาร่วงลงมาจากการจัดอันดับคอร์รัปชั่นทั่วโลก แต่สามารถพัฒนาภาพลักษณ์ขึ้นมาได้ หลังจากมีการจับกุมคนดังหลายคนในปีนี้ และรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นให้แข็งแกร่งขึ้น
ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นที่เผยแพร่โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดอันดับให้เมียนมาอยู่ในอันดับที่ 132 จาก 180 ประเทศในปี 61 ลดลงมาสองอันดับจากเดิมในปี 60 โดยองค์กรแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ในเบอร์ลิน เยอรมนี ให้คะแนนเมียนมา 29 คะแนนเท่ากับลาว โดยคะแนนเต็ม 100 คะแนนคือสะอาดมาก ไม่พบการทุจริต ขณะที่ในปี 60 เมียนมาได้ 30 คะแนนในกลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียงกัมพูชาที่มีอันดับแย่กว่าเมียนมา คืออันดับที่ 161 ได้คะแนนเพียง 20 คะแนน
คณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACC) ของเมียนมาจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพเพื่อแยกแยะและสอบสวนกรณีคอร์รัปชั่น และโดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติ อ้างอิงจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
การแก้ปัญหาทุจริตเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกของรัฐบาลเมียนมาที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี โดยในปีที่แล้ว มีการปรับแก้ไขกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นในปี 56 เพื่อให้อำนาจมากขึ้นกับ ACC ในการตรวจสอบเบื้องต้นกับข้อมูลที่ได้รับ เช่น ดัชนีชี้วัดความร่ำรวยที่ผิดปกติ โดยก่อนหน้านี้ ACC มีหน้าที่แค่ร้องเรียนเท่านั้น
ACC เดินหน้าทำงานด้วยอำนาจใหม่ มีการยื่นฟ้อง U Than Htut อดีตผอ.องค์การอาหารและยา (FDA) และอดีตมุขมนตรี Daw Lae Lae Maw ขณะที่เมื่อเดือนก.พ. ปีนี้ มีการตัดสินจำคุก 3 ปีกับ U Khaing Hla รองผอ.ทั่วไปฝ่ายสัตวแพทย์และโรงฆ่าสัตว์ด้วยข้อหารับสินบน
ถึงแม้จะมีความก้าวหน้า แต่กรอบการทำงานตามกฎหมายของเมียนมาในปัจจุบันไม่ได้รวมถึงการคุมครองผู้เปิดโปงการทุจริตสำหรับการยื่นฟ้องให้ ACC โดย Troels Vester ผู้จัดการประจำประเทศเมียนมาของ UNODC เน้นว่า กรอบกฎหมายจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ครอบคลุมการให้ความคุ้มครองผู้เปิดโปงแจ้งเบาะแส ขณะที่มีการแก้ไขบทลงโทษในครั้งล่าสุด
โดยความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องหมิ่นประมาทยังคงสกัดกั้นไม่ให้บรรดาผู้เปิดโปงรายงานข้อเท็จจริง
ยังไม่มีการรับผิดทางอาญาสำหรับข้อหารับสินบนในกฎหมายของเมียนมา หรือระเบียบในการรับบริจาคทางการเมือง โดยรัฐธรรมนูญปี 51 ซึ่งปกป้องบรรดานายทหารจากการถูกดำเนินคดีในศาลพลเรือน ซึ่งหมายความว่ากองทัพได้รับการคุ้มครองจาก ACC
ความท้าทายอีกอย่างสำหรับเมียนมาคือการสร้างระบบในการป้องกันคอร์รัปชั่นโดยรวม ความสามารถในการรับมือคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างรวมทั้งประเด็นอื่นๆ เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อนการค้าที่มีอิทธิพล และการใช้อำนาจในทางที่มิชอบของเจ้าหน้าที่
รัฐบาลประกาศการจัดตั้งหน่วยงานป้องกันคอร์รัปชั่นในกระทรวงต่างๆ และรัฐบาลท้องถิ่นเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เพื่อกวาดล้างระบบบริหารที่มีพิธีรีตองมากเกินไป โดย ACC กำลังฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อให้มาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ.