ศก.มาเลย์ชะลอตัวเหลือ 4.5%
เศรษฐกิจของมาเลเซียชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 4.5% ต่อปีในไตรมาสเดือนเม.ย. – มิ.ย.โดยได้รับผลกระทบจากการผลิตโภคภัณฑ์ ทำให้ธนาคารกลางลดตัวเลขคาดการณ์ตลอดทั้งปีของมาเลเซียลง
โดยอัตราการเติบโตต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยคือ 5.2% จากโพลล์นักวิเคราะห์ของสื่อรอยเตอร์ แต่ธนาคารกลางยังคงมองในแง่ดีเกี่ยวกับตัวเลขการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง
ซึ่งทำให้ตัวเลขจากไตรมาส 2 ถือเป็นการชะลอตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสเดือนต.ค. – ธ.ค. 2559 เป็นต้นมา
“การเติบโตในภาคเหมืองแร่หดตัวลงจากซัพพลายที่ขาดแคลนโดยไม่ได้มีการวางแผนก่อน ขณะที่ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดในการผลิตและสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน” ธนาคารกลางมาเลเซียระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 ส.ค.
ธนาคารปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของปี 2561 ลงเหลือ 5.0% จากเดิม 5.5 – 6.0%
การประกาศจีดีพีในวันที่ 17 ส.ค.ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ผู้ว่าการ Nor Shamsiah Mohd Yunus เข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมิ.ย.ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการจัดการระดับสูงของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาอย่างพลิกล็อกในเดือนพ.ค.
“ไตรมาส 2 ของปี 2561 เป็นไตรมาสที่สำคัญ” เธอกล่าวในการแถลงข่าวประกาศตัวเลขจีดีพี
“สำหรับบางคน นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 14 เป็นการเริ่มต้นของการยกเว้นการจัดเก็บภาษี และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและด้านธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด” เธอกล่าว
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำมาเลเซียคนใหม่ นายกฯมหาเธร์ผลักดันให้มีการทบทวนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีการอนุมัติในรัฐบาลชุดเก่า และเข้มงวดกับการปราบปรามคอร์รัปชั่นมากขึ้น โดยเขายังได้ยกเลิกภาษีสินค้าและบริการที่มีการจัดเก็บในรัฐบาลที่แล้วด้วย
“เป็นตัวเลขจีดีพีที่น่าผิดหวัง แต่ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้ง” Trinh Nguyen นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ที่ Natixis Asia ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกง
“ผมคิดว่าแย่ที่สุดสำหรับมาเลเซีย – ตัวเลขไตรมาส 2 อาจมองว่าเป็นสัญญาณความแข็งแกร่งเพราะรัฐบาลกำลังพยายามที่จะใช้มาตรการที่ยาก” โดยข้อความที่ออกมาจากรัฐบาลมาเลเซียคือการมุ่งเน้นที่มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง
ผู้ว่าการ Nor Shamsiah ระบุว่า จะยังคงมีการผ่อนคลายนโยบายการคลัง และเศรษฐกิจยังอยู่ในกรอบของการเติบโตในปีนี้และปี 2562
โดยเธอยังได้ผ่อนปรนกฎระเบียบที่มีการบังคับใช้ในปี 2559 เพื่อสนับสนุนค่าเงินสกุลเงินริงกิต และมีการยืดหยุ่นมากขึ้นกับผู้ส่งออกในการจัดการกับกระบวนการส่งออก
ขณะเดียวกัน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของมาเลเซียลดลงเหลือ 3,900 ล้านริงกิต หรือราว 32,019 ล้านบาท ในไตรมาส 2 จากเดิม 15,000 ล้านริงกิต หรือราว 123,150 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า อ้างอิงจากรัฐบาล
การลงทุนในหลักทรัพย์มีการไหลออกสุทธิจำนวน 38,300 ล้านริงกิต เมื่อเทียบกับการไหลออกของเงินริงกิตจำนวน 2,600 ล้านริงกิตในไตรมาสแรกของปี 2561 นี้.