ยูเอ็นชี้เฟซบุ๊กมีส่วนในวิกฤตเมียนมา
การสอบสวนจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมาระบุเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ว่า เฟซบุ๊กมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายข้อความที่สร้างความเกลียดชัง
โดยเฟซบุ๊กยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการวิจารณ์ในครั้งนี้ ถึงแม้ที่ผ่านมาบริษัทเคยระบุว่า จะเร่งดำเนินการเพื่อกำจัดข้อความที่สร้างความเกลียดชังในเมียนมา และจัดการกับคนที่แชร์คอนเทนต์ที่มีแต่ความรุนแรง
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 650,000 คนอพยพลี้ภัยจากรัฐยะไข่ในเมียนมาข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ ตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2560 หลังจากกองทัพเมียนมาเข้าปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรง มีคนจำนวนมากให้การว่าทางกองทัพเมียนมามีการสังหาร และข่มขืนชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก
ข้าหลวงใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เขามีความสงสัยว่าจะมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในเมียนมา แต่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งเมียนมาต้องการหลักฐานที่ชัดเจนเพื่อยืนยันว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริง
Marzuki Darusman ประธานภารกิจค้นหาความจริงระหว่างประเทศอย่างอิสระในเมียนมาแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในเมียนมา
“มีความรุนแรงและความขัดแย้งอยู่มากมาย ที่คุณสามารถจะแพร่กระจายสู่สาธารณะ แน่นอนว่าข้อความที่แสดงออกถึงความเกลียดชังมีส่วนมาก สำหรับสถานการณ์ที่น่ากังวลและน่าเป็นห่วงในเมียนมา โซเชียลมีเดียคือเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊กคือโซเชียลมีเดีย” เขากล่าว
Yanghee Lee ผู้สอบสวนกรณีของเมียนมาจากสหประชาชาติกล่าวว่า เฟซบุ๊กเป็นส่วนใหญ่ของสังคมสาธารณะและชีวิตส่วนตัวของพลเมือง และรัฐบาลใช้มันเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ
“ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำผ่านเฟซบุ๊กทั้งนั้นในเมียนมา” เธอให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยเสริมว่า เฟซบุ๊กช่วยประเทศที่ยากจนนี้ก็จริง แต่ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเผยแพร่ข้อความที่สร้างความเกลียดชังจำนวนมากเช่นกัน
“มันถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสู่สาธารณะ แต่เรารู้มาว่า กลุ่มชาวพุทธที่คลั่งชาติอย่างสุดโต่งมีเพจเฟซบุ๊กของพวกเขา ซึ่งเน้นแต่ความรุนแรงและความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ” เธอกล่าว
“ดิฉันกลัวว่า ตอนนี้เฟซบุ๊กได้กลายเป็นอสูรร้ายไปแล้ว และไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก”
พระวีระทู ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการต่อต้านชาวมุสลิมในเมียนมา ซึ่งเพิ่งพ้นจากโทษที่ถูกห้ามเทศน์เป็นเวลา 1 ปี เมื่อวันที่ 10 มี.ค. กล่าวว่า กลุ่มชาวพุทธที่ต่อต้านมุสลิมไม่ได้มีส่วนในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่
โดยเฟซบุ๊กได้ระงับ และบางครั้งก็ลบบางคนที่แชร์คอนเทนต์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่องออกไป เฟซบุ๊กแถลงในเดือนก.พ. จากการถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กของพระวีระทู
“หากบุคคลใดมีการแชร์คอนเทนต์ที่ส่งเสริมความเกลียดชังอยู่ตลอดเวลา เราจะระงับการใช้งานเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้พวกเขาโพสต์ข้อความได้ และสำหรับมาตรการขั้นต่อไปคือลบบัญชีผู้ใช้งานนั้นออกไป”.