คนเมียนมาหนุนซูจีและรัฐบาล
ถึงแม้ผู้นำจากหลายประเทศ เจ้าของรางวัลโนเบล กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิเคราะห์จะประณามความรุนแรงจากการปราบปรามชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของกองทัพเมียนมา แต่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่กลับให้การสนับสนุนรัฐบาลและนางอองซาน ซูจี
โดยบนถนนในย่างกุ้ง ชาวเมียนมาหลายคนที่ทางสื่อแชแนลนิวส์เอเชียสัมภาษณ์ต่างออกความเห็นว่า คนในประเทศอื่นไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง และคำวิจารณ์การปราบปรามของรัฐบาลเมียนมาจากนานาชาติเป็นสิ่งที่ผิดที่ผิดทาง
Min Thant บก.อาวุโสของสื่อ Eleven Media ในเมียนมากล่าวว่า “ชาวเมียนมาคิดว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับวิกฤตในรัฐยะไข่”
อ้างอิงจากสุนทรพจน์ของนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมื่อวันที่ 19 ก.ย. เธอกล่าวว่า มากกว่าครึ่งของชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ Min Thant กล่าวว่า สื่อต่างชาติควรจะเอ่ยถึงชาวมุสลิมที่ยังคงอยู่ในรัฐยะไข่และรายงานข่าวอย่างสมดุล
Thein Aung โชเฟอร์รถแท็กซี่คนหนึ่งในย่างกุ้งก็สนับสนุนความเห็นนี้เช่นกัน “ให้ชาวโลกพูดไปเถอะ พวกเขาไม่รู้สถานการณ์จริง แค่ได้ยินคนพูดมาเท่านั้น”
Lwin Lwin Aung พ่อค้าเร่ตามถนนกล่าวว่า ควรจะจำได้ว่า กลุ่มคนที่อพยพหนีไปจากประเทศนี้ ที่จริงแล้วก็เป็นผู้อพยพมาอาศัยอยู่ที่เมียนมาตั้งแต่แรกแล้ว “ชาวเบงกาลีมาที่ประเทศของเรา ถ้าพวกเขาอยู่อย่างสงบสันติ คนเมียนมาก็จะไม่ทำกับพวกเขาแบบนี้หรอก ผมชื่นชมผู้บัญชาการทหารของเรา และท่านผู้นำที่แก้ไขวิกฤตในยะไข่ การกดดันจากนานาชาติเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”
U Moon คนขายหนังสือพิมพ์คนหนึ่งกล่าวว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงล้วนเป็นคนที่มาอยู่ใน
เมียนมาอย่างผิดกฎหมาย “ผมคิดว่า มันไม่ยุติธรรมและไม่ควรเกิดขึ้น แต่รัฐบาลของเราทำสิ่งที่ดีแล้ว เช่นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ถูกต้องที่ประชาคมโลกจะกดดันรัฐบาล กลุ่มชาติพันธุ์ในยะไข่ต่างทุกข์ทรมานและได้รับผลกระทบกันทั้งหมด”
Myint Soe คนขับรถแท็กซี่อีกคนซึ่งเป็นมุสลิมกล่าวว่า ประชากรชาวโรฮีนจาเพิ่มจำนวนขึ้นมาก “เราต้องการสู้กลับ ถูกต้องหรือไม่ ผมไม่เชื่อรายงานข่าวหรอก ทั้งสื่อในเมียนมาและสื่อต่างชาติ ฝ่ายหนึ่งอาจโกหก และผมไม่สามารถรู้ว่าฝ่ายไหนที่โกหก แต่ผมยังเคารพและรู้สึกในแง่ดีกับอองซาน ซูจี”
Hla Hla Win คนขายดีวีดีซึ่งเป็นมุสลิมเช่นกันให้ความเห็นว่า มีมุมมองที่แตกต่างในประเด็นนี้ ขณะที่เรียกร้องหาสันติภาพ “คนเราพูดต่างกัน เป็นธรรมดาสำหรับประเทศที่แตกต่างกัน ที่จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน ฉันคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นถ้าหลายประเทศจับมือทำงานด้วยกัน ทุกอย่างสามารถสำเร็จได้ถ้าเราค่อยๆทำทีละเล็กละน้อย ฉันต้องการให้ทุกอย่างก้าวหน้าขึ้นเพื่อสันติและทุกพื้นที่เป็นมิตรกัน ในฐานะผู้นำของชาติและที่ปรึกษาแห่งรัฐ แม่ซูจะทำอย่างดีที่สุด และฉันคิดว่าเธอดีที่สุด ฉันหวังเช่นนั้น”
นอกจากจะดูไม่มีท่าทีสงสารเห็นใจชาวโรฮีนจาแล้ว ยังมีความกลัวว่ารัฐยะไข่จะถูกกลืนด้วยประชากรชาวมุสลิม ซึ่งในอดีตเป็นกลุ่มแรงงานอพยพในช่วงที่เมียนมายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
Thein Aung กล่าวว่า “กลุ่มชาติพันธุ์ในยะไข่กำลังจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปแล้ว เพราะประชากรมุสลิมกำลังเพิ่มขึ้นมาก”
ขณะที่โลกให้ความสนใจกับชาวโรฮีนจาที่อพยพหนีความรุนแรง เมียนมากลับให้ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่ยังอยู่
“ผมอยากให้สื่อต่างประเทศพูดถึงมุสลิมที่ยังเหลืออยู่บ้าง แทนที่จะพูดถึงแต่พวกที่อพยพหนีไป” Min Thant กล่าว “คนในท้องถิ่นเป็นเหยื่อที่แท้จริงของความขัดแย้ง”.