สั่งปิดโรงเรียนในมาเลเซียจากอากาศร้อนจัด
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/06/d28855b5ec97d8ade8d2a60ae4f4aee4_XL.jpg)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซียสั่งปิด 259 โรงเรียนในเมืองเจรันตทุตและเทเมอร์ลอห์
ในรัฐปาหังและปะลิสในวันที่ 11 เม.ย.นี้ เนื่องจากอุณหภูมิในพื้นที่เหล่านั้นพุ่งสูงถึง 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 72 ชั่วโมง
โดยในประกาศคำสั่งของกระทรวง มีข้อความว่า การสั่งปิดโรงเรียนในครั้งนี้เป็นมาตรการเฝ้าระวังของทางกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรักษาความปลอดภัยทางสุขภาพให้กับนักเรียนจำนวนมากกว่า 100,000 คน ในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในพื้นที่สองรัฐนี้
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงแถลงว่า เด็กนักเรียนไม่ต้องมาเรียนและทางโรงเรียนไม่ต้องจัดการเรียนการสอนชดเชย แต่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ยังต้องมาโรงเรียนเพื่อทำภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนอยู่ต่อไป
โดยทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งโดยตรงไปที่ฝ่ายกำกับดูแลการศึกษาในรัฐปาหังและรัฐปะลิส เพื่อให้แน่ใจในผลของคำสั่ง และมีการขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ปกครองให้สอดส่องดูแลการทำกิจกรรมของเด็กๆ ในช่วงที่มีคลื่นความร้อนแผ่กระจายอยู่
มีการสั่งปิดโรงเรียนถึง 259 แห่ง (โรงเรียนมัธยม 68 แห่งและโรงเรียนประถม 191 แห่ง) ใน 3 พื้นที่ ส่งผลต่อจำนวนนักเรียนมากถึง 97,533 คน (เป็นนักเรียนระดับประถมและมัธยม 91,862 คนและนักเรียนอนุบาล 5,671 คน)
นอกจากนี้ ทางกระทรวงยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมและกิจกรรมของเด็กๆ ในระหว่างวันที่ไม่ได้มาโรงเรียนด้วย
นางเช กายาห์ อิสเมล ผู้อำนวยการทั่วไปของกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่า อาจจะมีฝนและพายุที่จะช่วยบรรเทาความร้อนให้ลดลงบ้าง เนื่องจากอุณหภูมิจะยังคงพุ่งสูงในหลายพื้นที่ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนหน้าเป็นอย่างน้อย
เธอกล่าวว่า มาเลเซียได้ย่างเข้าฤดูมรสุมแล้ว โดยจะมีฝนและพายุเพิ่มขึ้นในช่วงบ่ายของวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร
โดยเธอพยากรณ์อากาศเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ว่า “ช่วงเวลาที่ย่างเข้าฤดูมรสุมจะมีอยู่ต่อไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. นี้ “คาดการณ์ว่า พื้นที่อื่นในคาบสมุทรมาเลเซียจะมีฝนตกสม่ำเสมอไปจนตลอดเดือนนี้ ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยในคาบสมุทรจะอยู่ระหว่าง 100 -250 มิลลิเมตร และระหว่าง 100-450 มิลลิเมตร ในรัฐซาบาห์และซาราวัก
ดาตุ๊ก เช กายาห์กล่าวว่า มาเลเซียจะเผชิญกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้มีหน้าแล้งในเดือน มิ.ย. ถึง ก.ย. และนี่เป็นช่วงเวลาที่อาจจะเกิดหมอกควันข้ามพรมแดนมาจากอินโดนีเซียขึ้นอีกครั้ง.