ครม.ไฟเขียว “PGS-9” 1.5 แสนล้านบาท
ครม.ไฟเขียว บสย.ลุยค้ำประกันสินเชื่อ 2 โครงการ ประมาณ PGS-9 มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท พร้อม Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 มูลค่า รวม 175,000 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการให้ความช่วย เหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (โครงการ PGS ระยะที่ 9) วงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 24,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 (โครงการ Micro ‘Entrepreneurs ระยะที่ 4) วงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 5,750 ล้านบาท รวม 2 โครงการในงบประมาณ 29,750 ล้านบาทโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เสนอมาตรการ 2 มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายละเอียดดังนี้
1.โครงการ PGS ระยะที่ 9 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป สร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สิน เชื่อ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพที่ต้องการสินเชื่อแต่หลักประกันไม่เพียงพอให้มีโอกาสเข้าถึงสิน เชื่อได้ รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ วงเงินค้ำประกันโครงการรวม 150,000 บาท วงเงินค้ำประกันต่อราย ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย ที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit : SGL) ของ บสย.การยื่นขอให้ค้ำประกัน ขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามที่ บสย. กำหนด ทั้งนี้ รัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปีละไม่เกิน 1.75% เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือไม่เกิน 3.5% ตลอดอายุการค้ำประกัน
ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ มีผู้ประกอบการเอ็มเอ็นอี ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 42,500 ราย (เฉลี่ย 3.5 ล้านบาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 225,000 ล้านบาท (1.5 เท่าของวงเงินค้ำประกันโครงการ) มีสัดส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 35%
2 โครงการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอื่นที่มีสถานประกอบการชัดเจนและประกอบธุรกิจจริง ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินเป็นการลดต้นทุนการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการรายย่อยและช่วยแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ มีวงเงินค้ำประกันโครงการรวม 25,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน) ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนด SGL ของ บสย. การยื่นคำขอค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ไม่เกิน 1.5% ต่อปีตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการรายย่อยปีละไม่เกิน 1.5% เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือไม่เกิน 3% ตลอดอายุการค้ำประกัน
ทั้งนี้ ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย (เฉลี่ย 250,000 บาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 25,000 ล้านบาท (1 เท่าของวงเงินวงเงินค้ำประกันโครงการ)
ทั้ง 2 โครงการ ระยะเวลารับคำขอค้ำประกัน 2 ปี นับตั้งแต่ ครม.มีมติเห็นชอบ อายุการค้ำประกัน ไม่เกิน 10 ปี โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อยแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละสถาบันการเงิน หรือโครงการย่อยแต่ละโครงการได้ตามความเหมาะสม
สำหรับผลดำเนินงานของ บสย.ตั้งแต่เดือนม.ค.จนถึงเดือนพ.ย. 2563 รวม 11เดือน มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 140,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นเอสเอ็มอีรายใหม่ได้ถึง 130,000 ราย แต่หากนำผลดำเนินงานปี2563 เปรียบ เทียบกับปี2562 ในช่วงเดือนม.ค.ถึงเดือนต.ค. พบว่า ยอดการอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อปี2563 เพิ่มขึ้น 112% ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เพิ่มขึ้น 167% และที่สำคัญคือ การอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ หรือแอลจี เพิ่มขึ้นถึง 174%.