คลังยังไม่หัก ณ ที่จ่ายเด็กคืนหนี้ กยศ.
นักศึกษาติดหนี้ กยศ.ได้เฮ!! กระทรวงการคลัง ยันยังไม่หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากต้องหารือกับภาคเอกชนและส่วนราชการ แต่สิ้นปีนี้ หนีไม่รอดแน่นอน
“วันที่ 26 ก.ค.2560 แม้ว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม แต่ในส่วนของภาคปฏิบัติที่ระบุว่า นายจ้าง บริษัท ห้างร้านรวมถึงส่วนราชการ ต้องหักรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ กยศ.และต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากรเช่นเดียวกับการหักภาษีหัก ฯ ที่จ่ายของเงินเดือนในแต่ละเดือนนั้น จะยังไม่มีผลบังคับใน ทันที“ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวและกล่าวต่อว่า
ขณะนี้ กยศ.อยู่ระหว่างหารือกับนายจ้างและกรมสรรพากรให้เตรียมความพร้อม รวมถึงการพิจารณารายละเอียดของกฎหมายให้ชัดว่า การหักเงินดังกล่าว จะครอบคลุมของการหักเงินเดือนของลูกหนี้รายเก่าของ กยศ. ด้วยหรือไม่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
“ตามเจตนารมณ์ของการแก้กฎหมายเข้าใจว่า ต้องการให้หักเงินเดือนครอบคลุมลูกหนี้ กยศ.ทั้งรายใหม่ และรายเก่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูรายละเอียดกฎหมาย และตีความให้แน่ชัดว่าทำได้จริงหรือไม่ ดังนั้นจึงยังไม่มีการหักเงินเดือนสิ้นเดือนก.ค.นี้ แต่ภาครัฐจะเร่งพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การหักเงินเดือนลูกหนี้ มาใช้หนี้ กยศ.เกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ โดยจะทำพร้อมกันหมดทั้งในส่วนลูกหนี้ที่ทำงานในส่วนภาครัฐ และเอกชน”
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ให้นายจ้างหักเงินจากรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ กยศ.ได้ โดยลูกหนี้กลุ่มแรกที่จะถูกหักเงินเดือนก่อนคือลูกหนี้ กยศ.ที่ทำงานในหน่วยงานรัฐ 200,000 คน และอีก 1.7 ล้านคน ที่ทำงานในภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และท้องถิ่น โดย คาดว่า จะทำให้ลูกหนี้ กยศ.ที่มีสัดส่วนหนี้ค้างชำระสูง 50% ลดลงเหลือไม่เกิน 25% ภายใน 2-3 ปี และคาดว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี จะลดลงเหลือไม่เกิน 15%.