“25 สิงหาคม” ชี้ชะตาคดีจำนำข้าว
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นศาลคดีจำนำข้าวในการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ก.ค. และศาลนัดอ่านคำพิพากษา 25 สิงหาคมนี้ “
วันที่ 21 ก.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมาเพื่อขึ้นสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดที่ 16 ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายในคดีโครงการรับจำนำข้าว พร้อมทีมทนาย บรรดาอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และประชาชนมาให้กำลังใจบริเวณด้านหน้าศาลฯ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากฝ่ายความมั่นคงอย่างเข้มงวด
โดยการไต่สวนนัดนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ ศาลได้ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด อันเป็นการให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายอันเป็นหลักกการสำคัญของระบบไต่สวน ตามคำร้องของจำเลยพร้อมด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างนั้นยังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้องของจำเลย
ศาลอนุญาตให้จำเลยแถลงปิดคดีด้วยวาจา วันที่1 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี และคดีเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น.
เหตุที่ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาคดีโครงจำนำข้าว ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ตรงกับสำนวนคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ที่มีนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 และพวกซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน และนิติบุคคลกับกรรมการผู้มีอำนาจในนิติบุคคล รวม 28 ราย เป็นจำเลยด้วย เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวนมีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้งสองสำนวน
ด้านท่าทีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ เพราะมอบหมาย เจ้าหน้าที่ไปแล้ว สื่อมวลชนนั่นแหละที่ต้องกำชับ และเตือนประชาชนว่าอย่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ศาล ขอให้เคารพศาล ที่ผ่านมาสั่งทุกเรื่อง วันนี้สื่อต้องเตือนประชาชนเองบ้างว่าอย่าทำ หรือสื่อมีหน้าที่อย่างเดียวว่ารัฐบาลจะทำอะไร ประชาชนจะเอาอะไรแล้วก็ให้ตีกันสองข้างอย่างนั้นหรือ หน้าที่ของสื่ออยู่ตรงกลางแล้วเขียน รอให้ศาลตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ผมพูดมาเสมอ ผมไม่เห็นสื่อเคยเขียนเลย เขียนกันแต่ว่าฝ่ายนี้จะมาประท้วงมาเดินขบวน ฝ่ายนี้จะมาสนับสนุน แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร จะใช้กฎหมายหรือไม่ มันก็ตีกันอยู่
ขณะที่ นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ว่า ขณะนี้ได้มีการนําคําให้การพยานในคดีไปวิเคราะห์ ในสื่อฯ อันมีลักษณะที่เป็นการชี้นําหรือบิดเบือนให้ ผิดไปจากข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังมีพยานบางปากได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เกี่ยวกับคดี ในระหว่างที่การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ยังไม่เสร็จสิ้น สํานักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า การเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดําเนิน กระบวนพิจารณาของศาลเป็นสิ่งที่สามารถกระทําได้ อย่างไรก็ตาม บรรดาข้อความหรือความเห็นที่อาจ ก่อให้เกิดอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานในคดี หรืออาจทําให้ สาธารณชนเข้าใจว่าข้อความหรือความเห็นนั้นมีอิทธิพลต่อการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งอาจทําให้การพิจารณาคดี เสียความยุติธรรมไป โดยเฉพาะข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงแห่งคดี การรายงานหรือการย่อเรื่องหรือ การวิพากษ์เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาอย่างไม่เป็นกลาง ไม่ถูกต้อง หรือโดยไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการดําเนินคดี ของคู่ความ หรือคําพยานหลักฐาน รวมทั้งการแถลงข้อความที่ทําให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน
“แม้ว่าข้อความเหล่านั้นอาจเป็นความจริงหรือการชักจูงให้เกิดมีคําพยานเท็จ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทําได้ และอาจเป็นความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล จึงขอความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายงดการวิเคราะห์หรือให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ อันอาจมี ผลกระทบต่อการดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลและอาจทําให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจาก ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในคดีดังกล่าว” นายสืบพงษ์ กล่าว