จีนอยากให้ปิดกิจการ Tik Tok ในสหรัฐฯมากกว่าขาย
รัฐบาลจีนคัดค้านการที่บริษัท ByteDance ของจีนถูกบีบให้ขายกิจการ Tik Tok ในสหรัฐฯ และอยากให้เป็นการปิดกิจการมากกว่า อ้างอิงจากแหล่งข่าว 3 คนที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา
บริษัท ByteDance อยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อขายกิจการแอปพลิเคชันยอดนิยม Tik Tok ในสหรัฐฯ ให้กับผู้ซื้อที่มีศักยภาพคือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟต์ และออราเคิล หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่เมื่อเดือนส.ค.ว่าจะแบน Tik Tok หากไม่ขายให้กับบริษัทอเมริกัน
โดยทรัมป์ขีดเส้นตายให้ ByteDance ต้องขายกิจการ Tik Tok ในสหรัฐฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า ทางการจีนเชื่อว่า การถูกบีบให้ขายกิจการจะส่งผลทำให้ทั้ง ByteDance และจีนอ่อนแอลงจากแรงกดดันของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยแหล่งข่าวขอไม่เปิดเผยนามเพราะเป็นสถานการณ์ที่อ่อนไหว
แต่ทาง ByteDance ให้สัมภาษณ์สื่อรอยเตอร์ว่า รัฐบาลจีนไม่เคยชี้แนะให้บริษัทปิดกิจการ Tik Tok ในสหรัฐฯ หรือในประเทศอื่นๆ
แหล่งข่าวสองรายระบุว่า จีนมีเจตนาที่จะปรับแก้รายชื่อสินค้าเทคโนโลยีส่งออกในบัญชีเมื่อวันที่ 28 ส.ค. เพื่อเป็นการแก้เกมสหรัฐฯและทำให้การทำข้อตกลงของ ByteDance ต้องล่าช้าออกไป หากต้องมีการขายกิจการ
เมื่อถูกสื่อถามในการแถลงข่าววันที่ 11 ก.ย.ในประเด็นของทรัมป์ และ Tik Tok นายจ้าวหลี่เจี้ยน โฆษกกระทรวงต่างประเทศระบุว่า สหรัฐฯกำลังละเมิดหลักการความมั่นคงแห่งชาติ และขอให้สหรัฐฯหยุดกดขี่บริษัทต่างชาติ
สื่อรอยเตอร์รายงานว่า ผู้สนใจซื้อ Tik Tok กำลังพูดคุยกันถึง 4 ทางเลือกในการปรับโครงสร้างเพื่อการเข้าซื้อกิจการจาก ByteDance
ด้วยทางเลือกเหล่านี้ ByteDance สามารถเดินหน้าขายกิจการ Tik Tok ในสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของจีน เพราะเป็นการขายโดยไม่รวมอัลกอริธึมหลัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญ
ทั้งนี้ บริษัท ByteDance และผู้ก่อตั้งคือจางอี้หมิง ได้ถูกผลักเข้ามาอยู่ในการปะทะระหว่างสองประเทศมหาอำนาจของโลก
รัฐบาลจีนระบุว่า ขอคัดค้านคำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์และเมื่อวันที่ 28 ส.ค. จีนได้เคลื่อนไหวด้วยการปรับแก้รายชื่อสินค้าเทคโนโลยีที่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของจีนก่อนส่งออก โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อัลกอริธึมของ Tik Tok จะเข้าเงื่อนไขอยู่ในรายชื่อสินค้านี้ด้วย
ทางการจีนระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ข้อกำหนดใหม่ไม่ได้มุ่งเป้าเจาะจงไปที่บริษัทใด แต่เป็นการเน้นย้ำว่าจีนมีสิทธิ์ที่จะบังคับใช้ในเรื่องนี้ได้