สั่งบริษัทประกันฯแจงข่าวปิดตัวว่อนโซเชียลฯ
“เลขาธิการ คปภ.” มึนข่าวเก่า 10 ปี “ปิดบริษัทประกัน – บริษัทมีปัญหาทางธุรกิจ” ว่อนโลกโซเชียลฯ สั่งทุกฝ่าย ทั้งที่ถูกระบุถึงและที่ไม่เอ่ยชื่อ เร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมไทยโดยเร็ว หวั่นกระทบความรู้สึกและความเชื่อมั่นของประชาชน เผยยอดขายประกันโควิด-19 พุ่งสูงเฉียด 9 ล้านฉบับ เบี้ยทะลุ 4 พันล้านบาท แต่ยอดเคลมแค่ 70 ล้านบาท แนะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์ หลังคนไทยเริ่มตื่นตัวกับระบบประกันภัยสุดๆ
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการปิดตัวของบริษัทประกันภัยบางแห่ง และปัญหาทางธุรกิจบริษัทประกันภัยอีกหลายๆ แห่ง ซึ่งเกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดียและมีการแชร์ต่อๆ กันไป เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 มิ.ย.2563 ว่า แม้จะเป็นข่าวเก่าที่เกิดขึ้นมานานเกือบ 10 ปีและมีการระบุชื่อของบริษัทเหล่านั้นออกมา โดยบางบริษัทที่ถูกเอ่ยถึงมีการปิดกิจการไปแล้วจริง แต่บางบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเกิดกระแสข่าวดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายต่อทั้งภาพลักษณ์ของบริษัทนั้นๆ และภาพรวมของอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึงทำลายความเชื่อมั่นของลูกค้าผู้เอาประกันและประชาชนทั่วไปอย่างมาก ดังนั้น เบื้องต้นจึงได้สั่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทที่ถูกพาดพิงถึง ได้เร่งดำเนินการชี้แจงต่อสังคมโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาความตื่นตระหนกของประชาชน
“หลายๆ บริษัทปิดกิจการไปแล้ว บางบริษัทมีปัญหาจริงแต่ได้ปรับปรุงแก้ไขจนไม่มีปัญหาแล้ว เมื่อเกิดกระแสข่าวดังกล่าวขึ้นมา ทำให้บริษัทที่ถูกระบุชื่อเหล่านั้นเดือดร้อน จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ถูกระบุว่ามีปัญหา แล้วไม่ทำอะไรเลยก็คงไม่ได้ คปภ.ในฐานะที่กำกับดูแลเรื่องประกันภัยก็ต้องลงมาดูในเรื่องนี้ เพราะมันไม่ได้เสียหายเฉพาะบริษัท แต่มันเสียหายต่อประชาชน โดยเฉพาะที่ทำประกันกับบริษัทที่ถูกระบุว่ามีปัญหาหรือปิดกิจการไปแล้วอย่างมาก โดยผมจะให้บริษัทที่เกี่ยวข้องเร่งทำการชี้แจงโดยเร็ว” เลขาธิการ คปภ. ย้ำ
ส่วนปัญหา การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมนั้น จนถึงขณะนี้ พบว่าบริษัทประกันภัยของไทยยังคงดีอยู่ และมีสถานะการดำเนินงานที่มั่นคง ไม่มีอะไรที่น่าวิตกกังวลใจ ซึ่งบริษัทที่ คปภ.จับตาดูอยู่นั้น ถึงแม้ไม่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 บริษัทเหล่านั้นก็ยังจะมีปัญหาอยู่เหมือนเดิม แต่ยังไม่ถึงขั้นจะล้มหายไป ดังนั้น ขอให้สบายใจได้ และคปภ.จะยังติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ยอดรวมการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 พุ่งขึ้นสูงถึง 8.9 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยกว่า 4,000 ล้านบาท และมีการเคลมเพียง 70 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ถือว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ยอดขายเบี้ยประกันภัยและยอดเคลมจึงมีไม่มากนัก สำหรับทิศทางของผลิตภัณฑ์ประกันภัยหลังจากนี้ ตนเชื่อว่าจะเป็นไปในลักษณะที่ตอบโจทย์ความต้องการแท้จริงของประชาชนมากยิ่งขึ้น ซี่งตอนนี้ ประชาชนเริ่มรู้และเข้าใจแล้วว่ามีประกันภัยที่เบี้ยประกันไม่สูงมากนัก แต่โดนใจของประชาชน ซึ่งถือเป็นการอุดช่องว่างของระบบประกันภัย ทำให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงระบบประกันภัยเกิดความสนใจมากขึ้น
“เห็นได้ชัดว่ามีประชาชนหลายล้านคนที่ซื้อประกันภัยโควิด-19 ทั้งที่ไม่เคยทำประกันภัยหรือประกันชีวิตมาก่อน แต่มาซื้อประกันในช่วงเวลานี้ ขณะที่ ก่อนหน้านี้ คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เคยร่วมกันรณรงค์ทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) สูงสุดก็แค่ 1 ล้านฉบับ แต่กับช่วง 2-3 เดือน ที่มีโควิด-19 แพร่ระบาดนั้น ยอดการซื้อประกันภัย กลับสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก และประกันภัยรูปแบบนี้ เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลก จนมีเรคกูเรเตอร์หลายแห่งทั่วโลก พูดถึงการทำประกันภัยโควิด-19 ซึ่งเป็นประกันภัยเฉพาะทางของประเทศไทยกันแล้ว” เลขาธิการ คปภ. ระบุและว่า
จากนี้ บริษัทประกันภัยจะต้องร่วมกันทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงนำเทคโนโลยีในระบบดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะการขายผ่านระบบ Face to Face เพราะการเดินไปเคาะประตูขายประกันภัยในรูปแบบเดิม คงจะทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว.