แนะอสังหาฯ รักษาเงินสด-ควบรวมกิจการสู้วิกฤต
แนะผู้ประกอบการภาคอสังหาฯปรับตัวรับมือผลกระทบจากโควิด-19 บริหารสภาพคล่อง ควบรวมกิจการ แบ่งพัฒนาโครงการเป็นเฟส หันมาทำตลาดออนไลน์มากขึ้น คาดตลาดอสังหาฯปี 63 ติดลบ30%
นางสาวสุมิตรา วงภักดี สุมิตราวงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์คอนซัลติ้ง จํากัด เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่เชื้อไวรัสโคโลน่า (โควิด-19) ว่าดูจะยังไม่จบและอาจจะลากยาวถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปิดโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ลดลงถึง 50% เท่ากับ 50,000 หน่วย (ปี 2562 มีการเปิดตัวโครงการใหม่รวมทั้งสิ้น 93,000 หน่วย) และคาดการณ์มีโอนโอนกรรมสิทธิ์ หรือที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนติดลบ 30 % เท่ากับ 78,000 หน่วย โดยยอดการหดตัวของปี 2563 นี้ น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 และคาดว่าคงไม่ตกต่ำไปกว่าปี 2548 ที่เกิดการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยทั้ง 2 ช่วงเวลานั้นภาคประชาชน ก็เกิดความกังวลในความไม่มั่นคงในรายได้ เพราะไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร จะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่
จากการเก็บข้อมูลพบว่าสินค้าคงเหลือ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทั้งหมด 58,000 หน่วย ดังนี้ โครงการแนวราบ 28,000 หน่วย โดยสินค้าคงเหลือมากที่สุด จะเป็นทาวเฮาส์ราคา 1-2 ล้านบาท,บ้านเดี่ยว ราคา 3-5 ล้าน และบ้านแฝดราคา 3-5 ล้าน โครงการคอนโดมิเนียม 30,000 หน่วย (ระดับราคา 40,000 – 80,000 บาทต่อตารางเมตรมากที่สุด) จากยอดคงเหลือทั้งหมดสินค้าที่น่าเป็นห่วงที่สุด คอนโดมิเนียมระดับราคา 1-3 ล้านบาท ที่มีจำนวนหน่วยมากที่สุด เพราะเป็นสินค้าที่กลุ่มผู้ซื้อคือมนุษย์เงินเดือนระดับปฏิบัติการ ที่ความไม่มั่นคงทางรายได้มีสูง
หากดูจากสินค้าคงเหลือ 58,000 หน่วย และประมาณการหน่วยขายเปิดใหม่ในปี 2563 ที่ 50,000 หน่วย ตัวเลขรวมประมาณ 110,000 หน่วย ก็อาจจะเข้าสู่สมดุลของ Natural Demand ของสูตรอสังหาริมทรัพย์คือ 1% ของจำนวนประชากร (โดยประชากรของกรุงเทพและปริมณทล รวม 12 ล้านคน) ซึ่งหากประมาณการหน่วยพร้อมขายไม่ได้เพิ่มขึ้นจากนี้ โครงการเก่าๆ ที่มีอยู่ก็น่าจะขายได้หมดภายในปีนี้
“แนวทางที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในภาวะแบบนี้ คือ การบริหารกระแสเงินสด โดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เร่งออกตราสารหนี้ การประนอมหนี้ ทั้ง ขอลดดอกเบี้ย ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ การแบ่งเฟสการพัฒนาให้จำนวนยูนิตน้อยลง ลดราคาขาย เพื่อต้องการระบายยูนิตที่สร้างเสร็จแล้ว ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้าสู่ดิจิตอล โดยการขายออนไลน์ ปรับลดพนักงาน ทั้ง ไม่รับคนเพิ่ม ปรับแผนการขาย ผ่อนปรนเงินงวด เงินดาวน์ ช่วยลูกค้า ในช่วง 3 – 6 เดือน นี้ และท้ายสุดเริ่มเห็นสัญญาณการเลิกจ้างพนักงานระดับสูงแล้ว”
ทั้งนี้ หลายประเทศประเมิณสถานการณ์ว่าอย่างเร็วสิงหาคมปีนี้ อย่างดีธันวาคมปีนี้ และเลวร้ายที่สุดคือสิ้นสุดธันวาคม ปี 2564 ดังนั้นไตรมาส 2 ปีนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทุกเจ้าจึงต้องหาทางรอด ทางออก ของตนเองให้ได้ เพื่อจะได้อยู่รอด และพร้อมรับสถานการณ์ ที่จะลากยาวไปต่อ ถึงธันวาคม 2564.