วัดบ้านเด่น (วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน)
ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติไทย ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อศาสนาพุทธ ยังเหนียวแน่นจากอดีตสู่ปัจจุบัน และนับวันความศรัทธายิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้พลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนก่อให้เกิดสถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างทางศาสนาขึ้นมากมาย
“เชียงใหม่” เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เราสามารถพบเห็นความงดงามของสถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างศาสนาสถานที่เกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และที่นี่ “วัดบ้านเด่น” หรือ “วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน” สถาปัตยกรรมทางศาสนาที่งดงาม และยิ่งใหญ่อลังการราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพ
…จะไปเยือน “วัดบ้านเด่นสะหลีศรีเมืองแกน” ต้องเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านแยกแม่มาลัย ไปถึงอำเภอแม่แตง เลี้ยวขาวทางไปเขื่อนแม่งัด สมบูรณ์ชล ขับตรงไปเรื่อยๆ จะผ่านซุ้มเทศบาลเมืองแกน เห็นสนามกีฬาเลยไปนิดนึงจะเห็นป้ายไปวัดบ้านเด่น อยู่ทางซ้ายเลี้ยวตามไปตามทางประมาณกิโลกว่าๆ ก็จะถึงวัดบ้านเด่นสะหลีศรีเมืองแกน ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 40 กิโลเมตร
ชื่อเรียกขานให้สั้นลง“วัดเด่นสะหลีเมืองแกน” ตั้งอยู่ที่ ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เดิมชื่อวัดบ้านเด่นเฉยๆ ตั้งแต่ท่านครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ จากที่ไม่เคยมีต้นโพธิ์เลยสักต้นเดียว ก็มีต้นโพธิ์ขึ้นมากมาย และด้วยความที่ชาวเมืองเหนือเรียกต้นโพธิ์ว่า“ต้นสะหลี” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นมงคลดี ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อวัดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่วัด อีกทั้งวัดตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าในสมัยโบราณที่ชื่อว่าเมืองแกน ชาวบ้านก็เลยเรียกชื่อวัดนี้เต็มๆ ว่า “วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน”
วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนแห่งนี้ เกิดจากแรงศรัทธาในเรื่องของศาสนา และความเชื่อต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งที่น่าอัศจรรย์แก่ผู้ที่มาเยือน และผู้พบเห็น สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะแต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดเล็กๆ แต่ด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อท่านครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล เกจิดังแห่งภาคเหนือที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ จึงพัฒนาจากวัดเล็กๆ ให้มีความใหญ่โตสวยงาม ทรงคุณค่าในงานพุทธศิลป์ถิ่นล้านนา
ท่านครูบาเจ้าเทือง มีลูกศิษย์ลูกหาที่ให้ความเคารพนับถือมากมาย ทั้งชาวไทย จีน ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง และชาวเขาหลายเผ่า เป็นที่เรียกขานว่า เป็นเกจิสหายหรือครูบาสองพี่น้อง คู่กับครูบาบุญชุ่ม เกจิดังแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งหากรูปใดรูปหนึ่งมีงานบุญสำคัญก็จะไปร่วมงานกัน และมีประชาชนที่ทราบข่าวแห่กันไปร่วมกราบไหว้ขอพรอย่างเนืองแน่นเสมอ จึงมีชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธานำเงินมาถวายเป็นปัจจัยในการทำบุญเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งตัวท่านครูบาเจ้าเทืองเอง ก็ไม่ต้องการจะเก็บเงินส่วนนี้ไว้ ประกอบกับคิดอยากจะสร้างอนุสรณ์แห่งบุญให้เป็นรูปธรรม จึงได้มีการปรับปรุง ก่อสร้างวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนเสียใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2534 บนพื้นที่กว่า 80ไร่ ของวัด ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่บนเนินสูง สามารถมองเห็นวิวทุ่งนา และบ้านเรือนละแวกใกล้เคียงอย่างชัดเจน
รูปแบบการก่อสร้างวัด เป็นแบบล้านนาประยุกต์ผสมผสานกับแนวคิดของท่านครูบาเจ้าเทืองเอง ที่ครูบาเรียกว่า “แนวสถาปนึก” คือคิดจะใส่อะไร ก็ใส่ จะทำอะไร ก็ทำ แต่ต้องมีความแข็งแรง และมั่นคง ท่านครูบาเจ้าเทืองต้องการให้เป็นการผสมผสานระหว่าง วัดบ้านกับวัดป่า เพราะมีความเชื่อที่ว่าศาสนาอยู่ได้เพราะการปฏิบัติ การแบ่งแยกไม่ใช่เรื่องสำคัญ โดยยึดหลักการสร้างตามบุญ และคงเพราะด้วยการสร้างตามบุญนี่เอง ที่ทำให้ทุกวันนี้ วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน มีสิ่งปลูกสร้างที่อลังการ งดงามด้วยสถาปัตกรรมวิจิตรตระการตา
แม้งานก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์อีกหลายส่วน แต่นักท่องเที่ยวก็มาแวะชมความยิ่งใหญ่อลังการของวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนแล้วจำนวนมาก ความวิจิตรงดงามร่วมสมัยนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านมาทางสิ่งปลูกสร้าง อาทิ พระอุโบสถอันอ่อนช้อยงดงาม มีพระประธานที่มีสีทองอร่ามประดิษฐานอยู่ มีรูปหล่อท่านครูบาเจ้าเทือง องค์สีทองอร่าม ผนังภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ ประดิษฐานเรียงรายตามเสาพระอุโบสถ และอีกหลายส่วนในบริเวณวัดก็โดดเด่นด้วยการลงรักปิดทองที่เสาต้นใหญ่
ส่วนบริเวณด้านข้างฝั่งซ้ายของพอุโบสถเป็นที่ตั้งของกู่อัฐิที่ท่านครูบาเจ้าเทืองสร้างเตรียมไว้สำหรับตัวท่านเองเมื่อท่านมรณภาพ ถัดออกไปก็จะเป็นศาลาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงจากวัดชื่อดังทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครง หลวงพ่อพระพุทธชินราช หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน หลวงพ่อพระศรีศากยสิงห์ หลวงพ่อพระพุทธสิหิงห์ หลวงพ่อพระนาคปรก หลวงพ่อพระพุทธจักรพรรดิราช หลวงพ่อวัดไร่ขิง และหลวงพ่อพระพุทธโสธร สะดวกสำหรับพุทธศาสนิกชนที่กำลังมองหาโอกาสที่จะไปกราบนมัสการหลวงพ่อท่าน หากมาที่วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนแห่งนี้ ก็ได้กราบนมัสการครบทุกองค์
ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นสถานที่ตั้งของพระธาตุจำลอง 12 ราศี ตระหง่านเป็นสีขาวขาวเด่น เป็นการรวบรวมองค์พระธาตุ 12 ราศีมาไว้ในที่เดียวกัน ให้ผู้ศรัทธาสามารถมากราบไหว้พระธาตุประจำราศีของแต่ละคนพร้อมๆ กันได้
ศิลปะภายในวัดฯ ก็วิจิตรตระการตาด้วยสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานล้านนาประยุกต์ โดยครูบาเทืองมีความตั้งใจว่าจะให้เป็นศาสนสถานที่งดงาม แฝงด้วยคติธรรม เป็นอุบายในการโน้มน้างจิตใจผู้คนให้ได้มีโอกาสเข้าวัดเพื่อขัดเกลาจิตใจ และให้เป็นสถานที่พักผ่อนทางจิตใจมากกว่าการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ยังมี อุโบสถ หอไตร หอกลอง วิหารเสาอินทขิล กุฏิไม้สักทองทรงล้านนา พระวิหาร พระสถูปเจดีย์ และพระพุทธมหาเศรษฐีนวโกฏิ ฯลฯ ให้กราบไหว้บูชาด้วย