“สนธิรัตน์” ใช้บล็อกเชนสกัด CPO เถื่อน
สนธิรัตน์ หารือ ส.อ.ท. ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ป้องกันลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ หลัง EA ใช้บล็อกเชน ซื้อน้ำมันปาล์มดิบมาผลิต PCM
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “EA: CSI Energy company, Innovation for us all” ว่า กระทรวงฯเตรียมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน(Blockchain) มาใช้ในการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติม เบื้องต้นจะเน้น CPO ที่ผลิตไบโอดีเซลบี 100 หากสามารถควบคุมการลักลอบได้มีประสิทธิภาพ ก็จะประสานงานไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำระบบดังกล่าวเข้าไปควบคุมสินค้าการเกษตรทั้งระบบต่อไป
ด้านนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ได้นำร่องโครงการ ผลิตสารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM (Phase Change Material) จากน้ำมันปาล์มครั้งแรกในโลก โดยนำนวัตกรรม Blockchain มาพัฒนาเป็น platform เพื่อใช้บันทึกข้อมูลและตรวจสอบการซื้อขายปาล์ม ตลอดจนปันผลประโยชน์ตอบแทนถือเป็นโครงการ CSI ( Corporate Social Innovation หรือ แนวคิด นวัตกรรมสังคมองค์กร ) ต้นแบบของบริษัทด้วยงบลงทุนกว่า1,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มมูลค่าของปาล์มและทำให้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ สารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM (Phase Change Material) คือ วัสดุที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานสูง ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตามแต่สูตรการผลิต ด้วยการดูดซับและปลดปล่อย พลังงานความร้อน และเปลี่ยนสถานะสารจากของเหลวเป็นของแข็งและจากของแข็งเป็นของเหลวได้จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบใช้ประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น อาคารและการก่อสร้าง, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์, การขนส่ง เป็นต้น PCM จากน้ำมันปาล์ม หรือจากแหล่งชีวภาพ (Bio Base) เป็นนวัตกรรมใหม่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกโดย EA ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในระดับโลก
ปัจจุบัน ตลาด PCM โลก มีมูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มอีก 3 เท่าภายในอีก 5 ปี สำหรับโรงงานผลิต PCM ของ EA ตั้งอยู่ที่ จ. ระยอง มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 130 ตัน/วัน เริ่มผลิตเฟสแรกในไตรมาสที่ 2 โดยส่งออกจำหน่ายไปประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น ทั้งหมด เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคาร และที่อยู่อาศัย เป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการรักษาอุณหภูมิและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนได้ ให้ภายในสิ้นปีนี้ สัดส่วนรายได้ของ PCM จะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทคิดเป็น 3% ของรายได้รวมบริษัทฯ สำหรับสายการผลิต PCM เฟส2จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 1,000 ตัน/วันภายในอีก 5 ปี
นอกจากนี้ EA ยังพลิกโฉมอุตสาหกรรมปาล์มไทย ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘ปาล์มยั่งยืน’ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลก ที่มีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ประกอบการทำธุรกรรมซื้อขายปาล์ม (มีคลิป)