ธ.ก.ส.ชู 2 แผนพร้อมเงิน 5.5 หมื่นล.สู้ภัยแล้ง
ธ.ก.ส.เด้งรับนโยบายรัฐแก้ปมภัยแล้งปีนี้ วาง 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้า “แล้งซ้ำซาก” 20 จังหวัดอีสาน และบางพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เตรียมวงเงินรับกรณีฉุกเฉินและฟื้นฟูการลงทุนรวม 5.5 หมื่นล้านบาท ด้าน “โฆษก ธ.ก.ส.” ย้ำ มีเงินก้อนเหลือ 4 หมื่นล้านบาท พร้อมชงเรื่องของบเพิ่มจากบอร์ดฯหากจำเป็น
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผช.ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะโฆษก ธ.ก.ส. กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ธ.ก.ส. ที่อยู่ในข่ายจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ว่า จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุถึงจังหวัดประกาศเขตประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 14 จังหวัดนั้น ทำให้ ธ.ก.ส.ได้สั่งการให้ ธ.ก.ส.พื้นที่ เร่งดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่เดิมๆ ที่มักเกิดปัญหาซ้ำซาก
โดยจัดเตรียมแผนช่วยเหลือเร่งด่วนแยกเป็น 2 แผน คือ 1.กรณีฉุกเฉิน ได้จัดเตรียมวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาภัยแล้ง วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท และ 2.กรณีที่มีความจำเป็นจะต้องเร่งฟื้นฟูการลงทุน โดยจัดเตรียมวงเงินเอาไว้ประมาณ 50,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อให้ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1
“วงเงินก้อนเดิมที่ตั้งไว้เมื่อปีก่อนกว่า 5 หมื่นล้านบาทสำหรับใช้ในการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาภัยแล้งนั้น เพิ่งได้ใช้จริงไม่เพียง 1 หมื่นล้านบาทเศษเท่านั้น ทำให้เหลือวงเงินเพื่อการนี้อีกราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดว่าน่าจะเพียงพอ แต่หากไม่พอ ธ.ก.ส. ก็สามารถทำเรื่องเสนอบอร์ดฯ เพื่อเพิ่มวงเงินในภารกิจนี้ได้” โฆษก ธ.ก.ส.ย้ำ
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดในภาคอีสานราว 20 จังหวัด รวมกว่า 1 ล้านคน และบางส่วนของภาคเหนือตอนล่างที่มีเพียงไม่กี่จังหวัด มีจำนวนผู้เสียหายมากกว่า 3 แสนราย
ส่วนปัญหาหนี้เสีย (NPL) นั้น นายสมเกียรติย้ำว่า ส่วนใหญ่ของลูกค้า ธ.ก.ส. กว่า 90% มักไม่มีปัญหานี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการขอพักชำระเงินต้น ดังนั้น การจัดส่งเฉพาะดอกเบี้ยจึงเป็นไปตามคาดการณ์รอบบัญชีของการชำระเงิน อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่ ก็ไม่มากพอจะก่อปัญหาตามมาแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีหนี้เสียเพียง 4.55% เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วานนี้ (7 ม.ค.) คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติในที่ประชุมฯ สั่งการให้หน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการทำงานเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยจัดทำน้ำใต้ดินและบนดินรองรับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการจัดหาน้ำบาดาลเอาไว้รองรับความต้องการของพี่น้องประชาชนในภาวะที่ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทั้งนี้ ครม.ได้ของบกลางประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือชาวบ้านทั่วทั้งประเทศในการขุดบ่อบาดาล 500 บ่อ.