“ชวน”แนะการต้านโกง! เลิกเกรงใจคนไม่ดี
ประธานฯชวน แนะเพิ่ม “หลักอย่าเกรงใจ” บรรจุเป็นข้อที่ 7. ในเงื่อนไข “ธรรมาภิบาล” ระบุ “เกรงใจนาย-ผู้ใหญ่” ถือเป็นต้นเหตุให้คอร์รัปชั่นในไทยขยายตัว วอนส่งเสริมและให้โอกาสคนดีได้มีเวทีทำงาน พร้อมเทรน “คนรุ่นใหม่ต้านโกง” ส่งสัญญาณถึง ป.ป.ช. หลังพบ “ผู้รับเหมา” ทิ้งงานจำนวน จนประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการพัฒนา ด้านสมาคมต้านโกงฯ จัดมอบรางวัล ANTI-CORRUPTION AWARDS 2019
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดงานและมอบรางวัล Anti-Corruption Awards 2019 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนของ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ดำเนินธุรกิจร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย เมื่อช่วงสายวันนี้ (6 ธ.ค.62) ณ อาคาร All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะความเกรงใจ “นาย” (ผู้บังคับบัญชา) หรือไม่ก็เกรงใจผู้ใหญ่และนักการเมือง ทั้งที่ความเกรงใจถือเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย แต่เมื่อมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงกลายเป็นว่ามีคนบางกลุ่มนำความเกรงใจไปใช้เพื่อ “ทำผิดเป็นถูก” ส่งผลให้ข้าราชการ และ/หรือ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง รวมถึงคนในองค์กรอิสระ แม้กระทั่งคนที่เคยทำงานในวงการตุลาการ ซึ่งต่างก็เคยเป็นคนดีและมีประวัติการทำงานที่น่ายกย่อง กลายเป็น “ผู้ต้องหา” เพราะความเกรงใจนั่นเอง
ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับ “วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล” ในวันที่ 9 ธ.ค.ของทุกปี ตนจึงอยากเสนอให้คำว่า “หลักอย่าเกรงใจ” บรรจุไว้เป็นข้อที่ 7. ใน “หลักธรรมาภิบาล” (Good Governance) ที่ได้บัญญัติเอาไว้ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.หลักนิติธรรม 2.หลักคุณธรรม 3. หลักความโปร่งใส 4.หลักความมีส่วนร่วม 5.หลักความรับผิดชอบ และ 6.ความคุ้มค่า
“เราเคยเห็นข้าราชการระดับสูง และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ รวมถึงองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับปลัดกระทรวง อธิบดี นายตำรวจยศนายพล ฯลฯ ต้องโทษถูกดำเนินคดีร้ายแรง บางรายถึงกับติดคุกติดตาราง ถามว่าเพราะเขาเป็นคนไม่ดีหรือ? คำตอบคือ “ไม่” แต่เพราะ “ความเกรงใจ” ทำให้เขาต้องกระทำการบางอย่างที่ขัดกับหลักการและหลักกฎหมาย มาซึ่งความละเลย หรือละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ กระทั่ง บางกรณีกลายเป็นการคอร์รัปชั่นตามมา ทั้งนี้ แม้จะยึดตามหลักการนี้แล้ว แต่ปัญหาคอร์รัปชั่นก็ยังมีอยู่ นั่นเพราะไม่ได้มีการปฏิบัติจริง ดังนั้น อย่าได้ “เกรงใจ” ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล เพราะหากข้าราชการ หรือบุคคลใด กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความเกรงใจแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา และอาจส่งผลเสียต่อตนเอง และประเทศชาติได้” นายชวนระบุและว่า
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการ “ทิ้งงาน” ของผู้รับเหมาฯ ที่แม้จะไม่เห็นชัดเจนว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่หลายกรณีก็ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่น เฉพาะใน จ.ตรัง ที่ตนอยู่ พบว่า มีโครงการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล หรือสถาบันการศึกษา ฯลฯ รวมถึงการขุดลอกคูคลอง ต่างก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน กล่าวคือ การที่ผู้รับเหมาฯทิ้งงาน ส่วนหนึ่งเพราะคนเหล่านี้ ต้องการจะได้งานในช่วงที่ไม่ค่อยมีงาน จึงเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเป็นจำนวนมาก เพื่อให้งานมาก่อน แต่สุดท้ายเมื่อทำไปแล้วเห็นว่าไม่ค่ากับการรับงาน จึงพากันทิ้งงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น มีส่วนมาจากเจ้าของงานฯและต้นสังกัดฯจากส่วนกลาง ที่ปล่อยให้มีการประมูลงานฯในลักษณะที่ผู้รับเหมาฯได้งานไปแล้วทำไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ช่วยดูแลและตรวจสอบด้วย
ประธานสภาผู้แทนราษฎรยังกล่าวอีกว่า เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวลดน้อยไปจากสังคมไทย จำเป็นจะต้องรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้คนในชาติ โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ได้ตระหนักถึงพิษภัยจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมกันนี้ ยังต้องเสริมให้ “คนดี” ได้มีเวทีและได้รับโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน ทั้งนี้ หากคนในชาติยังขาดสำนึกในเรื่อง “ที่มา” ของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่างๆ แล้ว ปรากฏการณ์ “คนไม่ดีแต่งตั้งให้คนไม่ดี มาทำงาน” ก็มีโอกาสสูง เพราะเกรงว่าหากแต่งตั้ง “คนดี” เข้าไปเป็น “ผู้บริหารระดับสูง” แทนตนแล้ว “คนดี” เหล่านี้จะกลับมาตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของตนในอดีตได้ มันจึงเป็นวังวนเช่นนี้ต่อไป
ดังนั้น ภาคประชาชนจะต้องตื่นตัวกับ “ที่มา” ของคนหลายๆ กลุ่ม รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ได้มาด้วยการใช้เงินซื้อเสียงด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ อุตส่าห์ลงทุนใช้เงินในการเลือกตั้งครั้งละหลายสิบล้านบาท คงไม่หวังแค่การได้รับเงินเดือนๆ ละแสนกว่าบาทอย่างแน่นอน มีโอกาสพวกเขาก็จะถอนทุนคืนจากงบประมาณแผ่นดิน
ก่อนหน้านี้ ดร.เอกชัย เหลืองสอาด นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่นฯ ได้กล่าวรายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ ว่า นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการจัดงานวันนี้ ตรงกับช่วงเวลาสำคัญที่ทั่วโลกพร้อมใจกันแสดงพลังต่อต้านการทุจริต ใน “วันต่อต้านการทุจริตสากล” ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมและสร้างเสริมมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
จากนั้น ได้มีการมอบรางวัล รางวัล Anti-Corruption Awards 2019 ให้กับบุคคลและตัวแทนขององค์กรต่างๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่อต้านคอร์รัปชั่น, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น, สื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชั่น และประเภทบุคคลเกียรติยศแห่งปี 2562 ประกอบด้วยผู้ที่ได้รับรางวัล สาขาบุคคล ได้แก่ น.ส.ปณิดา หรือน้องแบม ยศปัญญา นักวิชาการยุติธรรมปฏิบัติการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เขต 4 จ.ขอนแก่น , น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
สาขาองค์กร ได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) สาขาสื่อมวลชน ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 7 รายการ “คอลัมน์หมายเลข 7” นายสมโภชน์ โตรักษา ส่วนรางวัลบุคคลเกียรติยศแห่งปี ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต.