กบข.หนีตายเพิ่มสัดส่วนลงทุนต่างแดน
กบข.หนีตายในประเทศ หันเพิ่มสัดส่วนลงทุนในต่างแดน พร้อมขยายเพดานการลงทุนใหม่ จากเดิม 30% เป็น 40% คาดเริ่มปรับแผนใหม่ ช่วงต้นปี 63 เผยเหตุต้องทำ “ลดความเสี่ยง-ขยายโอกาสลงทุน”
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองบทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวถึงแผนการรุกเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงและขยายโอกาสการลงทุนของ กบข. ว่า แผนการลงทุนใหม่นี้ จะเร่งเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ จากเดิมร้อยละ 30 เพิ่มเป็นร้อยละ 40 ของสินทรัพย์รวม
ปัจจุบัน กบข. มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศอยู่ร้อยละ 28 ของสินทรัพย์รวม ซึ่งใกล้เพดานการลงทุนต่างประเทศตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ที่ร้อยละ 30 ของสินทรัพย์รวม โดยส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 72 เป็นการลงทุนในประเทศ และเพื่อลดการกระจุกตัวของการลงทุนภายในประเทศ ลดความเสี่ยง และหาโอกาสลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการลงทุนในตลาดต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับเพดานการลงทุนต่างประเทศเป็นร้อยละ 40 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา UBS Asset Management ที่เสนอให้ กบข. เพิ่มการลงทุนต่างประเทศมากขึ้นถึงร้อยละ 40 เช่นกัน
“การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น จะเป็นการกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสการหาผลตอบแทนการลงทุนไปยังตลาดที่มีศักยภาพ ในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Assets) เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ กองทุนไพรเวท อิควิตี้ และการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความมั่นคงสูง โดยในปี 2562 แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 7% แต่การลงทุนในต่างประเทศยังให้ผลตอบแทนสูง เช่น ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ให้ผลตอบแทนในรูปเงินบาทสูงถึง 18% เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และแข็งค่าในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ก็ถือเป็นโอกาสในการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้ หากมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม” เลขาธิการ กบข. ระบุ
สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ กบข. อยู่ระหว่างนำข้อเสนอการเพิ่มเพดานการลงทุนต่างประเทศจากร้อยละ 30 เป็น ร้อยละ 40 เสนอต่อคณะกรรมการ กบข. เพื่อพิจารณา และดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อกำหนดเป็นกฎกระทรวง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 63.