ฮ่องกง สนลงทุน อุตฯ ดิจิทัล-โครงสร้างพื้นฐาน
บีโอไอ เผย นักธุรกิจฮ่องกง สนใจลงทุนในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการผลิต ดิจิทัล และบริการ 9 เดือน ฮ่องกงยื่นคำขอลงทุนไทย ร่วม 9,000 ล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวบรรยายใน หัวข้อ “Thailand Plus Opportunities for Hong Kong Investors” จัดโดย องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ซึ่งมีนักธุรกิจจากฮ่องกง กว่า 50 รายที่มีความสนใจและมองหาโอกาสการลงทุนในด้านต่างๆ ในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ ที่เป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที และอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตและมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงทั้งอาเซียน โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีศักยภาพและความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนฮ่องกง ที่ต้องการขยายฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ รวมทั้งไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นประตูสู่ซีแอลเอ็มวีที
งานครั้งนี้ จัดโดยองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ซึ่งนำคณะนักธุรกิจฮ่องกง เดินทางมาเพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในไทย รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ภายหลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางเยือนมณฑลกวางตุ้ง และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อชักชวนนักธุรกิจฮ่องกงให้มาลงทุนในประเทศไทย
วันเดียวกัน สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฮ่องกง (Hong Kong Software Industry Association) ได้นำนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและซอฟต์แวร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพจากฮ่องกง จำนวน 25 ราย เดินทางมาบีโอไอเพื่อรับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะระบบนิเวศ (Ecosystem) ของไทย ในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฮ่องกงได้แสดงเจตจำนงในการร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกันในอนาคต
สำหรับการลงทุนของฮ่องกงในไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2558 มีจำนวนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 26 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 3,796 ล้านบาท เพิ่มเป็น 42 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 18,817 ล้านบาท ในปี 2561
และในช่วงเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา(มกราคม – กันยายน 2562) มีโครงการของฮ่องกงยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 44 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 8,937 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการด้านบริการ เช่น กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ กิจการด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมเบา