คลังชี้“บ้านดีมีดาวน์”ลดสต๊อก-สะพัด4แสนล.
“โฆษกคลัง” ยกทีมแบงก์รัฐ-เอกชน แจงหลักการ “บ้านดีมีดาวน์” เผยแบงก์และผู้ประกอบฯร่วมขานรับกันแน่น มั่นใจช่วยเอกชนระบายสต๊อกคงค้าง 2.7 แสนยูนิต ได้ถึง 1 แสนยูนิต ชี้เม็ดเงินสะพัด 4 แสนล้านบาท ด้านแบงก์ออมสินเผย หากแบงก์รัฐไม่ออกสินเชื่อบ้านยามเศรษฐกิจหดตัว ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจซึมลึก
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมนายฉัตรชัย ศิริไล กก.ผจก.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ น.ส.วีณา เตชาชัยนิรันดร์ ผช.เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้ามาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมาร โดยภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาท แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งประชาชนสามารถเข้าร่วมโครงการโดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.บ้านดีมีดาวน์.com ได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ จนถึง 31 มี.ค.63 และจะต้องได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินและจดจำนองตั้งแต่วันที่27 พ.ย.62 – 31 มี.ค.63 คนละ 1 สิทธิ์ (1 บัตรประชาชนต่อ 1 สิทธิ์)
จากการประชุมเช้าวันนี้ (28) ร่วมกับ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย พบว่า ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยทั้ง 3 สมาคมได้ยืนยันความพร้อมในการสนับสนุนโครงการ รวมถึงพร้อมมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยสนับสนุนประชาชนผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เช่น บางโครงการได้ช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมการโอนร้อยละ 0.01 และค่าจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มีการประชุมร่วมกับสถาบันการเงิน19 แห่ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ แนวทางในการปฏิบัติ และแนวทางการตรวจสอบ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อีกทั้ง สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการ “บ้านดีมีดาวน์”
นายลวรณ กล่าวว่า สถาบันการเงินของรัฐได้มีการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้สอดรับกับมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 62 ระยะที่ 2 ที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือร้อยละ 0.01 สำหรับที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท ทั้งนี้ จากความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จะช่วยให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถบรรลุเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มีการขยายตัวอย่างมีศักยภาพในปี 63 ต่อไป
“โครงการนี้จะช่วยระบายสต๊อกอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่มีค้างอยู่ในระบบราว 2.7 แสนยูนิต ได้มากถึง 1 แสนยูนิต ซึ่งจะเหลือสต๊อกฯอยู่ในระบบอีก 1.7 แสนยูนิต ทั้งนี้ หากประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ยที่ยูนิตละ 4 ล้านบาท นั่นหมายความจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะไหลไปสู่มือของผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และสินค้ากลุ่มอื่นๆ เท่านั้น หากยังทำให้ผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ ตัดสินใจขยายการลงทุน และส่งผลบวกโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต” โฆษกกระทรวงการคลังย้ำ
ด้านนายชาติ พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวว่า นอกจากโครงการสินเชื่อบ้านผ่อนต่ำ ล้านละ 10 บาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 0.01% วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะหมดภายในไม่เกิน 3 เดือนนับจากนี้ และเป็นโครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้แสดงความวิตกกังวลใดๆ เนื่องจากเป็นโครงการที่จะมีส่วนช่วยให้คนไทยได้มีบ้านเป็นของตนเอง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจเศรษฐกิจแล้ว ธนาคารออมสินยังเข้าร่วมโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” ด้วยการสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาท แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยโดยไม่จำกัดวงเงิน แต่ขึ้นกับคุณสมบัติของผู้กู้ กล่าวคือ มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/เดือน และศักยภาพที่จะชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้ธนาคารเจ้าหนี้
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า โครงการต่างๆ ที่ธนาคารออมสินหรือธนาคารของรัฐได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขัดแย้งกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่สู้จะดีนัก กระทั่ง ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้มงวดกับการอนุมัติสินเชื่อนั้น นายชาติชาย ระบุว่า นั่นเป็นหลักการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่ใช่การดำเนินงานของแบงก์รัฐ เนื่องจากยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ภาครัฐโดยเฉพาะธนาคารของรัฐ ยิ่งจำเป็นจะต้องออกมาตรการและผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้กู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ไม่ให้ซึมลึกมากไปกว่านี้ ที่สำคัญสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ก็เป็นสินเชื่อที่หลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่เพิ่มความเสี่ยงเหมือนการปล่อยสินเชื่ออื่นๆ โดยปัจจุบัน ธนาคารออมสินมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพียง 2% เศษๆ เท่านั้น.