สศช.คาดจีดีพีหดที่ 2.6% แนะรัฐเร่งกระตุ้นอีก
สภาพัฒน์ฉายความหวัง ชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต้ำสุดมาแล้ว หลังพบไตรมาส 3 ขยายตัว 2.4% คาดปี 62 เศรษฐกิจขยายตัว 2.6% ส่วนปีหน้า หวังจะเห็นจีดีพีแตะ 3.2% แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องช่วงปีใหม่ ด้านรองสมคิดฯ ย้ำ เอกชนเริ่มลงทุนชะลอตัวเพราะไม่มั่นใจในเศรษฐกิจโลก ยืนยันไม่หวั่นโดนขึงพืดช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วง ธ.ค.นี้
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 62 ว่า มีการขยายตัว 2.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 เล็กน้อย ซึ่งขยายตัว เพียง 2.3% ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ถือว่า เศรษฐกิจผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกขยายตัว 2.5% คาดว่า เศรษฐกิจในปี 62 จะมีอัตราเติบโต 2.6% ภายใต้เงื่อนไขไตรมาสที่ 4 ต้องขยายตัว 2.8% ขณะที่แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยปี 63 คาดว่า จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2%
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด จากที่เคยประเมินว่าน่าจะขยายตัว 2.7% แต่ของจริงขยายตัวได้เพียง 2.4% เนื่องจากยอดการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัว เพราะขาดความเชื่อมั่นใจในเศรษฐกิจโลก ขณะที่มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการชิมช้อปใช้ ยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3” เลขาฯสภาพัฒน์ ระบุและว่า
การลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มชะลอตัว เพราะไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัว 4.4% ขณะที่ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.1% และไตรมาส 3 ขยายตัว 2.4% โดยมีสาเหตุมาจากขาดความเชื่อมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน รวมถึงปัจจัยลบอื่นๆ ขณะที่ภาคการส่งออกในไตรมาส 3 เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไตรมาส 3 ทรงตัว หรือไม่ขยายตัวเลย (0%) มีทิศทางที่ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่การส่งออกลดลง 4.2% เทียบกับไตรมาสแรกที่ลดลงถึง 4% โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวก ในส่วนไตรมาส 3 เช่น น้ำตาล ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ รถกระบะและรถบรรทุก รถจักรยานยนต์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
ขณะที่การท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐเพิ่มขึ้น 3.7% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.4% และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี 4.2% ต่อเนื่องจาก 4.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการเมืองที่ดีขึ้นหลังผ่านพ้นการเลือกตั้ง ซึ่ง สศช.เห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เพราะมาตรการชิมช้อปใช้ ยังไม่สามารถประเมินผลได้ เพราะออกมาในช่วงไตรมาส 4
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะยังมีตัวแปรที่ไม่น่าไว้วางใจ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่กดดันเงินบาทให้แข็งค่า โดยคาดว่าปี 62 นี้ เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และจะไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้ เพราะปีหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจควรต้องทำไปพร้อมกันทุกด้านทั้งการบริโภคการใช้จ่ายภาครัฐการลงทุนและการส่งออก เศรษฐกิจไทยจึงจะดีขึ้น” นายทศพรย้ำ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัวได้ 2.4% ถือว่า ดีกว่าไตรมาส 2 แต่เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้ สถานการณ์จะดีขึ้นอีก เพราะตามข้อมูลที่ได้จากการประชุมร่วมกับกระทรวงกา คลัง พบว่า มีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่เตรียมจะลงทุนใน 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค. 62) เวินลงทุนในส่วนนี้จะมาช่วยชดเชยส่วนที่ชะลอลง คือ ภาคการส่งออกและลงทุนเอกชนได้
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะวิกฤตโลกตอนนี้ ถือว่าไทยดีกว่าอีกหลายประเทศ โดยช่วงนี้ทุกประเทศเจอปัญหาเหมือนกันหมด เช่น จีน ที่พบว่ายอดส่งออก 9 เดือนติดลบแล้ว และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนก็ขยายตัวเพียง 6% จากเดิม 7-8% ต่อเนื่องนานหลายปี ดังนั้น จะต้องใช้ช่องทางอื่นๆ มาช่วยเหลือการส่งออก แต่น้ำหนักของการส่งออกที่มีต่อเศรษฐกิจไทย มีมากถึง 70% ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการใหม่ๆออกมาเพิ่มเติมในช่วงปลายปี เช่น ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ และขยายมาตรการชิมช้อปใช้ ให้มีความลึกและขยายวงกว้างมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้กระจายไปยังชนบทมากขึ้น
“ขณะนี้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความไม่เชื่อมั่น เพราะความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยเฉพาะความคิดของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ไม่มีใครรู้ว่า ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างชะลอการลงทุน ในประเทศไทยจึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแรง และยังมีความมั่นคงสูง แม้ว่าในเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะไม่ผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย” รองนายกฯย้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกเรื่องเศรษฐกิจขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสมคิด กล่าวว่า เรื่องของเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องของส่วนร่วม เหมือนกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีกนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจนั้นถ้าเราบอกว่าดีมันก็ดี ถ้าบอกว่าไม่ดีแย่ ความรู้สึกส่วนรวมก็ไม่ดีการบริโภค ลงทุน ก็ชะลอลง
“เราต้องสร้างความมั่นใจ ในขณะที่โลกเป็นแบบนี้กำลังลำบาก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ส่วนรวมดีขึ้น ล่าสุด กระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการคุยกันตลอดว่าจะทำอย่างไร ล่าสุดได้ เศรษฐกิจไทยตามาส 3 ขยายตัวได้ 2.4% ดีแล้ว เศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่กว่าเวียดนามถึง 2 เท่า การจะรักษาโมเมนตัมไว้ยากมาก” นายสมคิดย้ำ.