แก้รธน.ชั่วคราวเปิดไพ่ดัน“คสช.”อยู่ยาว
เป็นอะไรที่หักเหลี่ยม หักมุมมาก เมื่อท่าที “ผู้นำประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ให้สัมภาษณ์ออกอาการทีเล่นทีจริง กลางเวทีงานมอบรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2559 ที่เมืองทองธานี ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
“ผมจะร่างรัฐธรรมนูญให้เอง…ผมถึงบอกถ้าไม่เรียบร้อย ผมเขียนเองก็ได้ จะเขียนแบบที่ประชาชนต้องการ ผมไม่ได้เขียนแบบที่อยากเขียน ผมไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ผมอ่านเอา และเอาความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการอะไรมาเขียน แล้วจะดูว่ามันผ่านหรือไม่ผ่าน หรือจะไม่ผ่านมากกว่าเดิม มันอยู่ที่ใจของทุกคน หากใจทุกคนอยากจะทำ ก็ทำได้หมดในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรในโลกใบนี้ที่ทำไม่ได้”
สอดรับกับ “มือหนึ่งด้านกฎหมาย” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี “แบไต๋” ยอมรับว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย” เป็นอันต้องล่มสลาย
“ไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ แต่อาจจะมีแนวคิด แต่คงไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะไม่ต้องการให้เสียสมาธิและเกิดการเปรียบเทียบว่าถ้าไม่ผ่านต้องหยิบฉบับนั้นมาใช้ ฉบับนี้มาใช้ ทั้งนี้ยอมรับว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วทันทีที่รู้ผลประชามติ ซึ่งจะเป็นอำนาจใครร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนนี้ยังไม่ทราบ”
ขณะเดียวกัน “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกมารับลูกเช่นกันว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ
“เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ ผมยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ เราต้องดูว่าผ่านหรือไม่ผ่าน และจะอย่างไรที่จะไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ให้ได้ แน่นอนว่ารัฐบาลมีมาตรการรองรับไว้แล้ว เพราะถ้าไม่มีก็คงแย่ แต่ต้องคิดไว้หลายแบบ รวมถึงขณะนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องมือกฎหมายว่าจะเอาใครมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ต้องห่วง มีห้วงเวลาอยู่ ยืนยันว่าทัน เลือกตั้งแน่นอน”
การขยับรอบนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณ “เดินเกมลากยาว” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะฟังจากสุมเสียงของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” จับสัญญาณได้ทันทีว่าคสช. “วางหมาก” รองรับไว้แล้วทุกด้าน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
สำทับกับคำพูดจากปาก “ฝ่ายสภาฯสูง” พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ยืนยันว่า จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อเปิดทางให้มีกระบวนการเขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จึงไม่น่าห่วงว่าหากเกิด “อุบัติเหตุ” สะดุดกลางทางคสช.ก็ยังมีแผนหนึ่ง แผนสอง รองรับ ไม่ให้โรดแม็พสะเทือน หรือสะดุดเด็ดขาด ชนิดที่ว่าหากรู้ผลประชามติปุ๊บ รีบทำปั๊บทันที
หรืออีกนัยหนึ่ง “คสช.” รู้ดีว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ จึงส่งสัญญาณบีบให้ฝ่ายที่แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ต้องหนาวๆ ร้อนๆ คิดหนัก หากไม่ร่วมวงเข็นร่างรัฐธรรมนูญให้ถึงฝั่ง
แต่ที่น่าสนใจ คือ 2 ประเด็น หลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ คือ 1. ใครจะต้องเป็นผู้จัดทำและรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 2.จะร่างโดยวิธีใด จะร่างเอง หรือจะตั้งกรรมการ หรือหยิบฉบับหนึ่งฉบับใด
โดยเฉพาะประเด็นแรก “ตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะมีการดึงตัว “ลูกศิษย์ อ.มีชัย” อย่าง “อ.ปี๊ด”บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กลับมาร่วมวงด้วยอีกครั้งหรือไม่
รวมถึงมีการมองกันว่า อาจจะวางตัว “ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย” อย่าง “อ.วิษณุ” ให้มานั่งแท่นทำหน้าที่นี้เสียเอง หรืองานนี้ “ผู้นำประเทศ” จะลงสนาม ตวัดปลายปากกาเป็นผู้ร่างกติกาบ้านเมืองด้วยตัวเองหรือไม่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขบคิด
เพราะอย่าลืมว่า หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง มีแนวโน้มว่าจะไม่มีการทำประชามติ ดังนั้นกระบวนการชี้ขาดและอำนาจเด็ดขาดทั้งหมดจะต้องอยู่ “บิ๊กตู่” แบบไม่ต้องสงสัย
เข้าทางเหลี่ยมลากยาวแบบนี้ คงต้องจับตาดูกันนาที ต่อนาที ชนิดห้ามกระพริบตาว่าทางออกเกมนี้จะเป็นอย่างไร.