สรรพสามิตไม่เร่งปรับขึ้นภาษีความเค็ม
สรรพสามิตไม่เร่งปรับขึ้นภาษีความเค็ม พร้อมเปิดทางภาคเอกชนปรับตัวรับอัตราภาษีใหม่หลังประกาศใช้อีก 2 ปี ย้ำเป้าหลักอยู่ที่การดูแลคุณภาพชีวิตของคนไทย หลังพบการบริโภคอาหาร/ขนม/บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมโซเดียมสูงเกินมาตรฐาน WHO สูงมาก
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงคืบหน้าในการพิจารณาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม โดยพิจารณาจากปริมาณโซเดียม (เกลือ) ที่ใช้ปรุงรสชาติในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่า ยังคงอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเอกชน เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปในการกำหนดอัตราภาษีฯ ที่ชัดเจน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะเน้นจัดเก็บภาษีฯ
เฉพาะอาหาร ขนม/ของขบเคี้ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยจะไม่จัดเก็บภาษีฯในกลุ่มสินค้าเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว และเครื่องปรุงรสอื่นๆ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตไม่มีวัตุประสงค์หลักเพื่อการจัดเก็บรายได้แต่อย่างใด แค่ต้องการดูแลสุขภาพของคนไทยหลังได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคสินค้าที่มีความเค็ม (โซเดียม) ในอัตราที่สูงมาก แม้ว่าปริมาณความเค็มขั้นต่ำของการบริโภคในแต่ละวัน ที่ อย.กำหนดใหม่คือ 2,400 มิลลิกรัม (มก.) จะต่ำกว่าสภาพความเป็นจริงที่ผู้ผลิตฯนำมาใช้ปรุงรสในอาหาร ขนม/ของขบเคี้ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มากแล้วก็ตาม แต่ยังคงสูงมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้กำหนดค่าโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก.ต่อวัน
“เรื่องนี้ กรมฯ ไม่ได้เร่งรัดว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด ปล่อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือ เพื่อหาข้อสรุปตามความเหมาะสม โดยจะต้องให้โอกาสผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ปรับตัวกับอัตราภาษีใหม่นี้ด้วย คาดว่าการใช้ระยะเวลาในการปรับของภาคเอกชนจะอยู่ในช่วงเวลา 2 ปี ภายหลังการประกาศปรับอัตราภาษีสำหรับสินค้าความเค็มใหม่แล้ว ซึ่งถึงตอนนี้ ผู้ผลิตฯหลายรายก็เริ่มลดการใช้โซเดียมในการผลินสินค้าบ้างแล้ว” อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ
อนึ่ง จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคอาหาร ขนม/ของขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีผสมของโซเดียมสูงถึงวันละ 1,000 มก.