“ลิงชิงหม้อ” ชาบูหม้อไฟสไตล์ไทเปสูตรเด็ดหม่าล่า
ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และให้ผลผลตอบแทนที่ดีที่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ก็เป็นธุรกิจที่ก้าวเข้าไปได้ยาก เพราะการแข่งขันที่รุนแรง หากไม่มีบุคลากรที่มีความพร้อม รวมถึงจุดเด่น และรสชาติที่ดึงดูดลูกค้าก็อาจจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว
ธุรกิจดังกล่าวจึงถือว่าเป็นธุรกิจปราบเซียนประเภทหนึ่ง แต่ไม่ใช่กับเภสัชกรอย่าง “บุญฑริกา เชิญตระกูล” ซึ่งเลือกทำธุรกิจอาหารในรูปแบบของหม้อไฟชาบู หรือสุกี้ โดยเลือกที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าสนใจ และรสชาติอร่อยที่แตกต่าง จนสามารถ Startup ธุรกิจของตนเองขึ้นมาได้ภายใต้แบรนด์ “ลิงชิงหม้อ“
–จากเภสัชกรสู่เจ้าของกิจการชาบู
บุญฑริกา ในฐานะเจ้าของธุรกิจ “ลิงชิงหม้อ” บอกถึงที่มาที่ไปของการทำธุรกิจว่า เดิมทีตัวเธอเองนั้นเป็นเภสัชกร และเป็นเจ้าของร้านขายยาถึง 3 แห่ง แต่ด้วยเงื่อนไขของการเช่าพื้นที่เพื่อเปิดร้าน ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการต่อสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของจะขายที่เพื่อทำกำไร หลังจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละพื้นที่มีการเติบโต จนทำให้ตัวเธอต้องปิดกิจการร้านขายยาจนเหลือเพียงแห่งเดียวในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของไอเดียในการทำธุรกิจ ลิงชิงหม้อ มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ โดยที่ตัวเธอมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดกิจการร้านขายก๋วยเตี๋ยวไปก่อน หลังจากที่ได้ไปเซ็นสัญญาเพื่อเช่าพื้นที่ขายยา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเปิดเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวอยู่และกำลังใกล้ที่จะหมดสัญญาก่อนที่จะทำเป็นร้านขายยา โดยเมื่อได้เข้าสู่โลกของธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร ก็ทำให้ได้พบว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และสร้างผลตอบแทนได้ดี
ทั้งนี้ ประจวบเหมาะกับที่น้องชายร่วมทำธุรกิจกับเพื่อน เพื่อเปิดกิจการก๋วยเตี๋ยวในสไตล์เวียดนาม หรือที่เรียกว่า “เฝอ” และพัฒนาจากร้านที่ขายแบบชาม มาเป็นรูปแบบของหม้อไฟภายใต้ชื่อร้าน “เฝอ 54 ” และมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นจากกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ดังนั้น จึงตัดสินใจชวนน้องชายมาเปิดร้าน เฝอ 54 บนทำเลแถวบ้านที่ประชาชื่นในรูปแบบของการซื้อแฟรนไชน์มาเปิดให้บริการ
หลังจากที่เปิดกิจการ เฝอ 54 มาได้ประมาณ 2 ปี ยิ่งทำให้ตนรู้ว่าธุรกิจอาหารน่าจะไปได้ด้วยดี ตนจึงมีแนวคิดที่จะเปิดกิจการร้านอาหารที่เป็นของตนเอง แต่จะต้องมีความแตกต่างจากแฟรนไชน์ที่ซื้อมา โดยเลือกที่จะทำชาบูหม้อไฟสไตล์ไทเป เนื่องจากได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศดังกล่าว และได้ลิ้มลองรสชาติของชาบู ซึ่งจะใช้เครื่องเทศที่เรียกว่า “หม่าล่า” เป็นส่วนผสม แต่ด้วยความที่หม่าล่านั้นมีความเผ็ดจนทำให้ลื้นชาเมื่อรับประทาน ทำให้ความรู้สึกแรกของตนไม่ได้ชื่นชอบเท่าใดนัก อีกทั้งน้ำซุบของที่นั่นจะมีทั้งความมัน และเผ็ด แต่เมื่อได้มีโอกาสไปรับประทานที่แม่เพื่อนซึ่งเป็นคนจีนทำให้ ซึ่งจะไม่เผ็ดมากและมีรสชาติอร่อย ตนจึงเข้าไปขอสูตร โดยให้แม่ของเพื่อนช่วยสอนวิธีการทำ หลังจากนั้นจึงนำสูตรมาปรับปรุง และพัฒนาให้รสชาติเหมาะกับคนไทย และเปิดกิจการ ลิงชิงหม้อ เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2561
–ขยายเวลาพร้อมลุยเดลิเวอรี่
บุญฑริกา บอกต่อไปอีกว่า จุดเด่นของร้านลิงชิงหม้ออยู่ที่น้ำซุป และหม่าล่าที่มีรสชาติอร่อยไม่เหมือนกับที่ใด และวัตถุดิบที่จะถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี ทั้งเนื้อสัตว์ และผักซึ่งจะต้องสด สะอาดและปลอดภัย เพราะร้านเราไม่ใช่เป็นแบบบุฟเฟ่ เพราะฉะนั้น จึงต้องเลือกเฉพาะวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพเท่านั้น ขณะที่ราคาก็จะไม่สูงมาก สามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่ผู้มีรายได้ระดับล่างขึ้นไปจนถึงระดับกลางและบน โดยใช้กลยุทธ์ในการทำตลาดผ่านการซื้อโฆษณาบนเฟสบุ๊ก
สำหรับแผนการทำตลาดเพื่อขยายฐานลุกค้านั้น ด้วยความที่ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา ตนจึงมองว่าน่าจะเป็นการขยายในลักษณะที่ไม่ใหญ่มากนักก่อน โดยมองว่าจะเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางวัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด จากเดิมที่ร้านลิงชิงหม้อจะเปิดให้บริการเวลา 17.00-23.00 น. ของทุกวัน ซึ่งตนเลือกที่จะนำเมนูอย่างก๋วยจั๊บญวน และข้าวมันไก่ ซึ่งตนมีสูตรเด็ดมานำเสนอ เนื่องจากทำเลของร้านอยู่ใกล้แหล่งของออฟฟิต ซึ่งผู้บริโภคจะมีเวลาในการรับประทานไม่มากนัก
นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มการให้บริการในรูปแบบของการจัดส่งถึงบ้าน หรือเดลิเวอรี่ (Delivery) ซึ่งทางร้านได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าอย่าง ไลน์แมน (LINE MAN) เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มโอกาสทางการค้า อีกทั้งยังมีแนวคิดในการขยายพื้นที่ในการจอดรถสำหรับลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทำเลของร้านในปัจจุบันมักจะมีปัญหาเรื่องที่จอดรถ เพราะอยู่ติดกับถนนหลัก ทำให้สูญเสียโอกาสทางการค้าจากอุปสรรคดังกล่าวไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหากมีลูกค้าที่สนใจขอซื้อแฟรนไชน์เพื่อไปจำหน่ายทางร้านก็พร้อมที่จะสอนสูตรการทำเพื่อให้นำไปเปิดให้บริการ
“แนวคิดในภาพรวมตนตั้งใจที่จะขยายสาขาของลิงชิงหม้อเพิ่มเติม โดยจะเปิดให้บริการบนทำเลที่มีสถานที่จอดรถอย่างสะดวกสบายเพื่อกำจัดจุดอ่อนของร้านปัจจุบัน รวมถึงการเปิดให้บริการในรูปแบบของรถขายของเคลื่อนที่ หรือฟู้ด ทรัค (Food Truck) ซึ่งสะดวกสบายในการเคลื่อนที่ไปจำหน่ายยังที่ต่างๆ และการเปิดให้บริการในรูปแบบของแฟรนไชน์อย่างเป็นทางการ แต่ด้วยความที่ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อนจะดีเท่าใดนัก ตนจึงเลือกที่จะดำเนินการแบบสเกลเล็กๆไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจึงค่อยดำเนินการตามแผนที่วางเอาไว้”
–วางเป้ารายได้โต 30%
บุญฑริกา บอกอีกว่า จากกลยุทธ์ในการทำตลาดตามแนวทางดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของร้านเติบโตเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 30% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งร้านมีรายได้อยู่ที่ประมาณเดือนละ 2-3 แสนบาท ส่วนหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น อยู่ที่เรื่องของการให้บริการ และคุณภาพของวัตถุดิบ ซึ่งเราจะคัดสรรมาให้กับลูกค้าเสมือนเรารับประทานเอง โดยเราทานแบบไหนลูกค้าจะต้องได้ทานแบบนั้น โดยกว่าที่ร้านจะเพิ่มเมนูได้แต่ละ 1 อย่าง จะต้องผ่านการคุชัดกรองมาแล้วเป็นอย่างดีจากความคิดเห็นของครอบครัว.