“มิตรชาวไร่” ผลิตภัณฑ์อบกรอบกล้าที่จะต่าง
ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการเกษตร ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งเรื่องของดิน น้ำ สภาพอากาศ โดยแต่ละพื้นที่ก็จะมีความเหมาะสมในการปลูกพืชพรรณธัญญาหารแต่ละชนิดที่แตกต่างกันออกไป และด้วยความที่เป็นประเทศแห่งการเกษตรนี่เอง ทำให้ผลผลิตที่ได้มักจะมีล้นเกินความต้องการของตลาด ทำให้สามารถทำราคาได้สูงอย่างที่ควรจะเป็น
“สุพจน์ พงษ์วัชรารักษ์” คือผู้ที่มองเห็นโอกาส และช่องทางในการทำตลาดจากพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย โดยนำมาผ่านการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยคัดเลือกวัตถุดิบชั้นดีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาด จนสามารถ Startup ธุรกิจขึ้นมาได้ภายใต้แบรนด์ “มิตรชาวไร่”
จากกึ่งสำเร็จรูปสู่ตลาดสำเร็จรูป
สุพจน์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท เศรษฐี มิตรชาวไร่ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ว่า เดิมทีตนจะทำผลิตภัณฑ์เกษตรพื้นฐานด้วยการแปรรูปอย่าง่ายในรูปแบบของกึ่งสำเร็จรูป เป็นเกษตรอุตสาหกรรม โดยเลือกข้าวโพด และสับปะรดมาแปรรูปเป็นหลัก หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาการผลิตอย่างเป็นขั้นเป็นขั้นตอนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแปรรูปก็มีทักษะที่เพิ่มมากขึ้น
ในปี 2557 จึงเริ่มทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยเลือกถั่วลิสง ซึ่งตนมีมีองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดดังกล่าวนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนของการปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูป โดยที่ในช่วงแรกยอดขายก็ยังไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ค่อยๆ เติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่ตัวผลิตภัณฑ์มีจุดเด่นในตัวเอง ซึ่งของแบรนด์ มิตรชาวไร่ จะไม่ใช้การทอด ดังนั้น จึงใช้น้ำมันน้อยกว่า
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ตัวผลิตภัณฑ์ของแบรนด์มุ่งเน้นที่เรื่องของคุณภาพ แบรนด์จึงกล้าสร้างความแตกต่างในตลาด โดยใช้บรรจุภัณฑ์แบบขวดใสให้ผู้บริโภคได้เห็นเลยว่าผลิตภัณฑ์เป็นอย่างไร ซึ่งในช่วงต้นก็ทำการตลาดไปในหลากลายช่องทาง แต่ที่พบว่าดีที่สุดก็คือร้านกาแฟ โดยนำไปวางจำน่ายที่ร้านกาแฟอเมซอน (Café’ Amazon)เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งทางสำนักงานใหญ่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่บริหารร้านกาแฟอเมซอนได้ติดต่อเข้ามา เพื่อให้บริษัทส่งผลิตภัณฑ์เข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ไปยังร้านกาแฟอเมซอนทุกสาขา และส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้า และห้างโมเดิร์นเทรดหลายแห่ง
แตกไลน์ผลิตภัณฑ์
สุพจน์ บอกต่อไปว่า ด้วยความที่บริษัทมีองค์ความรู้ในเรื่องของการเคลือบ จึงคิดว่าน่าจะมีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นเพิ่มเติมด้วยการใช้ทักษะประเภทดังกล่าว โดยมองว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และเมล็ดทานตะวัน ซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรที่มีอยู่แล้วในประเทศ อีกทั้งด้วยความที่บริษัทตั้งอยู่ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จึงมีพื้นที่อยู่ติดกับจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งของเมล็ดทานตะวัน จึงจัดสินใจแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ด้วยพืชทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ มิตรชาวไร่ ประกอบด้วย ถั่วลิสงอบกรอบ เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบ และเมล็ดทานตะวันอบกรอบ โดยจะมีรสชาติให้เลือกอย่างหลากหลาย เช่น วาซาบิ ซึ่งเป็นรสชาติที่ขายดีที่สุด ,กาแฟ ,ไก่ ,โนริสาหร่าย ,ต้มยำกุ้ง ,มะพร้าว ,เห็ดชิตาเกะ และรสชาร์โคล โดยถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่ทำ เป็นต้น ส่วนเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะมีรสทุเรียนเป็นจุดเด่น ซึ่งจากการที่ได้ไปออกงานแสดงสินค้าพบว่าผู้บริโภคต่างชาติที่ไม่ชอบทุเรียน เพราะกลิ่นที่ค่อนข้างรุนแรง สามารถรับประทานได้ และชอบในผลิตภัณฑ์ เพราะบริษัทได้มีการปรับลดกลิ่นไม่ให้ฉุน โดยที่รสชาติจะออกแนวหอมหวานเป็นสำคัญ
ขณะที่เมล็ดทานตะวันจะมีรสชาติโมโรเฮยะ ซึ่งเป็นผักเพื่อสุขภาพที่ฟาโรห์ของประเทศอียิปต์เสวยเมื่อต้องการให้สุขภาพแข็งแรง โดยผักโมโรเฮยะถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยโดยคนญี่ปุ่น และนำไปส่วนผสมในการบะหมี่ผัก เพื่อส่งให้กับร้านอาหารเจ้าดัง ตนจึงเลือกที่จะนำผักดังกล่าวมาทำเป็นส่วนผสม เพื่อทำเป็นรสชาติเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค
เล็งบุกตลาดต่างประเทศ
สำหรับช่องทางการจำหน่ายหลักของแบรนด์ จะอยู่ที่ห้างโมเดิร์นเทรดไม่ว่าจะเป็น ฟู้ดแลนด์ (Foodland) ,วิลล่ามาร์เก็ต (Villa Market) ,เลมอนฟาร์ม (Lemaon Farm) และโฮมเฟรชมาร์ท ในเครือของห้างสรรพินค้าเดอะมอลล์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีช่องทางออนไลน์ ทั้งเพจเฟสบุ๊ก ,เว็บไซด์ และไลน์แอด (Line@)
ด้านกลยุทธ์การทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้านั้น บริษัทเตรียมที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่การทำลูกเดือยอบกรอบรสชาติต่างๆ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กระจายครอบคลุมทุกส่วนของการตลาดให้ได้ พร้อมกลยุทธ์ในการปรับลดขนาดของบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคระดับกลางสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของแบรนด์จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง จากวัตถุดิบที่ถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเลือกนำเม็ดมะม่วงหิมพานต์รสทุเรียนเข้าไปทำตลาด ซึ่งมองที่ตลาดประเทศจีนเป็นหลัก โดยจะใช้รูปแบบของการมีตัวแทนจำหน่ายเข้าไปทำตลาดให้ เพราะจะรู้ช่องทางในการจำหน่ายมากกว่า และบริษัทเองก็เป็นเพียงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงไม่สามารถเข้าไปทำตลาดด้วยตนเองได้
“โดยบริษัทเลือกที่จะทำตลาดประเทศจีนก่อน เพราะบริษัทเป็นเอสเอ็มอี หากตลาดในจีนมีกระแสตอบรับที่ดี เพียงเท่านี้กำลังการผลิตของบริษัทก็อาจจะผลิตได้ไม่ทันต่อความต้องการของตลาดแล้ว โดยจากกลยุทธ์ในการทำตลาดของปีนี้เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้โตที่ 5% จากปีที่ผ่านมาซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท”
ส่วนหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น สุพจน์บอกว่า อยู่ที่ วุฒิภาวะของการเป็นผู้นำซึ่งจะต้องสามรรถนำทีมได้ เพราะเอสเอ็มอีมีทรัพยากรไม่เท่าบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น ผู้นำจะต้องเก่งทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคนิค ,นวัตกรรม ,วัตถุดิบ ,การผลิต ,เครื่องกล ,การตลาด และการบริหาร เป็นต้น หรือจะเรียกว่าต้องเป็นซุบเปอร์แมนเลยก็ว่าได้ โดยธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องใช้กึ๋นไม่ใช่โชคช่วย ซึ่งผู้นำจะต้องนำองค์กรให้ได้ จะต้องรู้จักวิธีการเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อแก้ไขให้ได้อย่างตรงจุด
“อุปสรรคของเอสเอ็มอีมาอยู่มาก ซึ่งอาจทำให้พนักงานหมดกำลังใจ เช่น การที่พนักงานมองน้ำเหลือเพียงครึ่งแก้ว เราจะโน้มน้าวให้ทีมงานเปลี่ยนทัศนคติในการมองน้ำที่เหลืออยู่แค่ครึ่งแก้วมาเป็นน้ำที่เหลือตั้งครึ่งแก้วแล้วได้อย่างไร พร้อมกับผลักดันให้ทีมงานช่วยร่วมแรงร่วมใจกันเติมน้ำให้เต็มแก้วให้ได้ แค่คิดบวกอาจจะไม่มีประโยชน์มากนัก หากไม่สามารถเติมน้ำในแก้วได้”