ต่อยอดชิมช้อปใช้/ชี้กระจุกจ่ายเงินรอบกทม.
“อุตตม” นัดลงพื้นที่ตรวจ “ชิมช้อปใช้” ที่ระยอง พรุ่งนี้ (4) เผยยอดใช้จ่าย 5 วันแรกรวมกว่า 7 แสนคน ยอดจ่าย 628 ล้านบาท แยกเป็น “กระเป๋า 1” 621 ล้านบาท ขณะที่ “กระเป๋า 2” มีเพียง 750,000 บาท แต่เฉลี่ยต่อคนกว่า 2,500 บาท จากยอดผู้ใช้เกือบ 3,000 ราย ระบุ ยอดใช้จ่ายกระจุกตัวอยู่ใน กทม.-ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงมากสุด ด้านเลขาฯรมว.คลัง อัดฝ่ายค้าน “ตั้งป้อม” ให้ร้ายมาตรการดีๆ ที่คนไทยชื่นชอบ ขณะที่ “ผช.รมต.-คลัง” ย้ำ รัฐเตรียมต่อยอดมาตรการนี้ จัดไป “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” หวังดึงกลุ่มท่องเที่ยวร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุกา รมว.คลัง กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง จะเดินทางลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อตรวจเยี่ยมการใช้จ่ายของประชาชนตามมาตรการกระต้นเศรษฐกิจ “ชิม ช้อป ใช้” โดยวานนี้ (2 ต.ค.) พบว่า การลงทะเบียนครบ 1ล้านคน ตั้งแต่ช่วงเวลา 03.00 น. ทั้งนี้ ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมแกนนำฝ่านค้าน (พรรคเพื่อไทย) ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ต่างออกมาโจมตีมาตรการดังกล่าวว่าไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยนายทุน ช่วยคนรวย ทั้งๆ ที่ประชาชนได้ประโยชน์ เหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ตั้งข้อสังเกตุว่า อะไรที่รัฐบาลทำแล้วเกิดผลตอบรับที่ดีกับประชาชน ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยหมด ซึ่งน่าเศร้าใจมากที่มีวิธีคิดแบบนี้ ที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้ผลาญงบเหมือนที่ฝ่ายค้านเคยทำในอดีต ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว และบ้านเอื้ออาทร ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้จะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพี่น้องคนไทยทุกคน จะไม่ทำเพื่อนายทุนเด็ดขาด
“มาตรการกระต้นเศรษฐกิจ “ชิม ช้อป ใช้” ว่า มาตรการดังกล่าวส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย รวมถึงส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 62 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” เลขานุการ รมว.คลัง ย้ำ พร้อมให้เหตุผลว่า
เนื่องจากการท่องเที่ยวสามารถเชื่องโยงในระดับมหภาค ภูมิภาค และฐานราก อีกทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยกระจายเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เพื่อผลักดันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัว และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสาขาการผลิตที่เกี่ยวข้องเป็นวงกว้าง ดังนั้น การส่งเสริมให้คนไทยจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นผ่านการท่องเที่ยวในประเทศจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการบริโภค ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญ และจะส่งผลอย่างชัดเจนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวและขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ
“มาตรการนี้ประชาชนตอบรับเป็นอย่าง ส่วนปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หน่วยงานก็เข้าไปดูแลแล้ว” นายธนกรย้ำ
ด้าน นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวถึงมาตรการ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” ว่า เป็นมาตรการที่จะดึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว มาร่วมจัดแพ็กเกจราคาพิเศษ เช่น ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ร้านอาหาร และสินค้าบริการ ด้วยราคาเพียง 100 บาทต่อ 1 รายการ ในรูปแบบชิงโชคให้ผู้โชคดี 40,000 คน ผ่านการลงทะเบียน เพื่อรับสิทธิซื้อแพ็กเกจ
โดยยอมรับว่าขั้นตอนง่ายกว่ามาตรการ “ชิมช้อปใช้” ทั้งนี้ เพื่อหวังต่อยอดจากมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มออกไปใช้สิทธิ์ท่องเที่ยวในช่วงแรก นับว่าเป็นโปรโมชั่นอีกด้านหนึ่งหนุนให้เกิดการท่องเที่ยว เงินกระจายออกสู่ต่างจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก” เพื่อเน้นดูแลคน 6 กลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้สูงอายุ สุภาพสตรี และวัยรุ่นจบใหม่เริ่มเข้าทำงาน ยังมีเวลาท่องเที่ยวได้ ไมมีปัญหาออกเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา
“ขอแนะนำผู้ลงทะเบียน “ชิมช้อมใช้” เตรียมตัวกดคีย์บอร์ดลงทะเบียนผ่าน Official Line ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เตรียมรองรับเอาไว้ 40,000 แพ็คเกจ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายวันรุ่นยุคดิจัทัล กลุ่มเจน X-Y หรือคนระดับกลางมีกำลังซื้อ “ ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ และว่า หากกลุ่มผู้ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ สนใจโปรโมชั่นของรัฐบาลออกมาครั้งนี้ จะส่งผลต่อการกระจายเม็ดเงินออกสู่การท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะมีเงินหมุนต่อไปอีกหลายรอบ และพยุงเศรษฐกิจปลายปีให้ดีขึ้น สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ออกมาคาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยหนุน GDP ให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 0.02% สำหรับตัวเลขการใช้จ่ายโครงการชิมช้อปใช้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดกรมบัญชีกลางมีการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าผู้เข้าร่วมโครงการนับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. – 1 ต.ค.62 ไปแล้วจำนวน 457 ล้านบาท
ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ “โฆษกกระทรวงการคลัง” กล่าวว่า ช่วง 10 วันแรก มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการ “ชิมช้อปใช้” เต็มตามโควตา 1 ล้านรายทุกวัน โดยมีผู้ลงทะเบียน
ไม่ผ่านวันละประมาณ 2 แสนราย ซึ่งระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 10 ล้านราย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียน 7 วันแรกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ 5,538,368 ราย โดยผู้ลงทะเบียน 6 วันแรกได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้ว 4,723,592 ราย อีก 814,776 ราย จะได้รับตั้งแต่วานนี้ (2 ต.ค.) ทั้งนี้ มีผู้เข้ายืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว 3,902,443 ราย โดยยืนยันตัวตนสำเร็จ 2,719,267 ราย และมีผู้ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชัน 821,149 ราย
ส่วนการใช้จ่าย 5 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิ์ 706,450 ราย มีการใช้จ่ายรวมประมาณ 628 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 621 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐกว่าร้อยละ 50 หรือ 330 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม มียอดใช้จ่ายประมาณ 98 ล้านบาท ร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่าย 10 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป มียอดใช้จ่าย 183 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขา 142 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 22 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด
สำหรับการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 2,962 ราย มียอดใช้จ่าย 7.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 2,532 บาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” 5 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” และร้าน “ใช้” มียอดใช้จ่ายใกล้เคียงกันที่ประมาณ 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด พบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) กรุงเทพฯ 87 ล้านบาท (2) ชลบุรี 48 ล้านบาท (3) สมุทรปราการ 29 ล้านบาท (4) ระยอง 20 ล้านบาท (5) ปทุมธานี 20 ล้านบาท (6) พระนครศรีอยุธยา 19 ล้านบาท (7) ลำพูน 18 ล้านบาท (8) เชียงใหม่ 17 ล้านบาท (9) นครปฐม 17 ล้านบาท และ (10) นนทบุรี 15 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 22-30 ปี ร้อยละ 35 รองลงมาคือช่วงอายุ 31-40 ปี ร้อยละ 30
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบปัญหาในการยืนยันตัวตน พบว่า ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแสงที่อาจสว่างเกินไปหรือผิดตำแหน่งในขณะถ่ายภาพ รวมทั้งการถ่ายโดยใช้แอปพลิเคชันตกแต่งภาพ ที่ทำให้ภาพไม่เหมือนจริง ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยฯ ได้มีการติดตามเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จวันละกว่า 5,000 ราย และมีผู้ไปยืนยันตัวตนผ่านธนาคารแล้วกว่า 2 แสนราย ซึ่งขณะนี้ ธนาคารกรุงไทยฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบการยืนยันตัวตนให้รวดเร็วขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 วัน.