สศค. จัดสัมมนา FPO Forum หนุนไทย
สศค. จัดเวทีสัมมนา FPO Forum ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 4/2562 เผยการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนขยายตัว สอดคล้องการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัว
นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการเปิดการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) เมื่อวันที่ 2 ส.ค.62 ณ โรงแรมมณีจันท์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.จันทบุรี การสัมมนา ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายบทบาทของ สศค. สู่ภูมิภาค และสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทของ สศค. รวมทั้งรับฟังความเห็นจากส่วนที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคโดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการศึกษา และประชาชนจาก จ.จันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ระยอง และสระแก้ว รวมทั้งสิ้นประมาณ 350 คน และได้รับเกียรติจาก นายวิทูรัช ศรีนาม ผจก.จันทบุรี กล่าวต้อนรับ
โดยการเสวนาในช่วงเช้าภายใต้หัวข้อ “โอกาสและการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออก” โดยมี ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมภูชา จังหวัดจันทบุรี นางกาหลง เพิ่มพูล ผจก.สหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จ.จันทบุรี และ น.ส.กาญจนา จันทรชิต เศรษฐกรชำนาญการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีนายรอม อรุณวิสุทธิ์ เศรษฐกรชำนาญการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในปี 62 มีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน จะเป็นปัจจัยกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 2562 ไม่สดใสมากนัก
สำหรับเศรษฐกิจของภาคตะวันออก และเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรีมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการเป็นแหล่งผลิตผลไม้และการประมงสำคัญของประเทศ การมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและด้านการค้า เนื่องจากมีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา และมีการค้าผ่านแดนไปยังเวียดนาม และด้านการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ทำให้มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นในภูมิภาค
สำหรับมุมมองภาคเอกชน มองว่าจังหวัดจันทบุรีมีความเข้มแข็งหลายด้าน จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเกษตรได้เน้นมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices: GAP) มีการส่งออกไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลี เพื่อขยายตลาด
นอกจากนี้ ควรมีนวัตกรรมตลาดสินค้าผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเกษตรดิจิตอล ทำให้เกษตรกรมีการวางแผนการผลิตสินค้าและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น ในขณะที่ด้านการค้าและการท่องเที่ยวควรเน้นตลาดต่างประเทศที่ยังคงมีศักยภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามมากขึ้น ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาช่วยสนับสนุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ และแหล่งน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในภูมิภาค รวมถึงควรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมบรรยากาศที่ดีในการท่องเที่ยว และดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกและจังหวัดจันทบุรีอย่างยั่งยืน
อีกทั้ง ภายในงานฯยังมีกิจกรรมส่งเสริมการออมโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการออมกับ กอช. ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบได้ออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ
สำหรับการเสวนาช่วงบ่ายในหัวข้อ “โอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ” โดยมีนายชาลี ขันศิริ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดร.ชลจิต วรวังโส ผอ.สำนักเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี และ ดร. อรศิริ รังรักษ์ศิริวร ผอ.ส่วนนโยบายเศรษฐกิจการคลังระหว่างประเทศ สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สศค. เข้าร่วมการเสวนา โดยมี น.ส.นุจนีย์ พลล้ำ เศรษฐกรชำนาญการ สศค. เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ไปแล้ว 13 ฉบับ และอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีนั้นเพื่อลดอุปสรรคการค้าทั้งทางด้านภาษี และการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทย และการนำเข้าสินค้าทุนสำคัญสำหรับการผลิต เช่น เครื่องจักรกล
สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าส่งออกหลักของจันทบุรี ได้แก่ ผลไม้และอัญมณี ปัจจุบันได้มียุทธศาสตร์ส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีกับสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้หลักของจันทบุรี เพื่อให้เกิดมาตรฐานของผลผลิต เกิดประโยชน์ในการส่งออกในอนาคต นำไปสู่การเป็นมหานครแห่งผลไม้ ซึ่งจะทำให้มีผู้ประกอบการและมีระบบเครือข่ายมากขึ้น รวมทั้งควรให้มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการส่งออก
นอกจากนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยในอนาคต จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมทั้ง สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ การลงทุนในระยะ 5 ปีแรก เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้กรอบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมมี 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรม การแปรรูปอาหาร และกลุ่มที่สอง คือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น.