IMF ชี้โครงสร้างไทยแกร่ง จี้เน้นลงทุนภาครัฐ
ผู้แทน IMF พบ รมว.คลัง แจงผลประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 ชี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยสุดแกร่ง! จี้รับมือสงครามการค้ารอบใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ระบุการบริโภคและลงทุนเอกชนไทยฟื้นตัว หลังภาพการเมืองชัดเจน หนุนการลงทุนภาครัฐ เชื่อคลอด กม.ใหม่ เอื้อไทยสุด ด้าน “อุตตม” ลั่น พร้อมปรับโครงสร้างภาษี-พัฒนาระบบภาษี เพิ่มประสิทธิภาพและเป็นธรรม เน้นหนุนกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการใหม่
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า คณะผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำโดย Mr.Lamin Y.M. Leigh ตำแหน่ง IMF Mission Chief for Thailand เข้าพบนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เพื่อรายงานผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2562 ตามนัยแห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Article IV Consultation) เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยสรุปผลการประเมินที่สำคัญ ดังนี้
สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยคณะผู้แทน IMF ระบุว่า สภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากกรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน แต่เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถขยายตัวได้จากการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ นอกจากนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ทำให้เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถรองรับจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ คณะผู้แทนฯ เห็นว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องมาจากมีความชัดเจนทางการเมืองและการลงทุนภาครัฐที่เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ไทยควรเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดได้อีก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญต่างๆ ชะลอตัวลง
ด้านการดำเนินนโยบายการคลังนั้น พวกเขาได้แสดงความชื่นชมต่อการดำเนินนโยบายการคลังของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปฏิรูปการคลัง เช่น การออก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพื่อกำหนดกรอบวินัยทางการเงินการคลังของประเทศไทยเป็นต้น และในการพัฒนากฎหมายต่างๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสของภาครัฐและป้องกันการทุจริต
ขณะเดียวกัน คณะผู้แทนฯ ยังสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว โดยแนะนำให้ไทยควรมีการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และสนับสนุนการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Social Welfare Policy) โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้มีรายได้น้อย ได้รับประโยชน์กว่า 14.6 ล้านคน
รวมทั้งควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสนับสนุนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนด้านการศึกษา การสาธารณสุข และการให้โอกาสทางเศรษฐกิจที่เสมอภาคแก่ประชาชนเป็นสำคัญทั้งนี้ คณะผู้แทนฯ เชื่อว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ นี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต
ด้านนายอุตตม กล่าวต่อคณะผู้แทนฯ ว่า การดำเนินนโยบายการคลังของไทยในระยะต่อจากนี้ไป จะสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการ EEC รวมทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบรถไฟถนน ท่าเรือ และสนามบินต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน ไทยได้ปรับปรุงกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสามารถดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มากยิ่งขึ้น
รวมทั้งจะเน้นการปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวมและพัฒนาระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้นและจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SMEs และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงงานแห่งอนาคตที่มีทักษะขั้นสูงเพื่อรองรับความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ต่อไป.