ภาคีประกันภัยพรึ่บ! ร่วม คปภ.เพื่อชุมชน
ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตบเท้าร่วมเปิดโครงการ “คปภ.เพื่อชุมชน” ครั้งที้ 3 ประจำปี 62 ด้าน เลขาฯคปภ. ดึงภาคเอกชนลงพื้นที่ หวังอุดรูรั่ว “ปมประกันภัยฉ้อฉล” พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบประกันภัยที่ถูกต้องแก่คนไทยทั่วประเทศ ชี้ “แก้จากปัญหาจริง” ช่วยให้ชาวบ้าน-ชาวนาเข้าถึงระบบประกันภัยได้ตรงจุด
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ คปภ. ร่วมกับเครือข่ายภาคีประกันภัย ประกอบด้วยสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย ฯลฯ ร่วมแถลงข่าวโครงการ “คปภ.เพื่อชุมชน” ประจำปี 2562 ณ ชุมชนบ้านบางกระดี่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา
เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า การจัดงานฯครั้งที่ 3 ในปีนี้ ถือว่าพิเศษกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา เพราะมีประสบการณ์ตรง และรู้ว่าจะต้องลงพื้นที่สำรวจความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านในแต่ละชุมชน เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ การคัดเลือกพื้นที่จัดทำโครงการ “นำร่อง” ก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการนำระบบประกันภัยเข้าถึงประชาชน โดยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกับเหตุการณ์ในชีวิตจริง จะทำให้ประชาชน ทั้งในกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกร ได้รู้ถึงประโยชน์ที่แท้จริงของระบบประกันภัย
“ปีนี้ เราได้เลือกชุมชนที่มีประสบการณ์จากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น จากภัยธรรมชาติ จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความต้องการระบบประกันภัยอย่างแท้จริง เช่น ชุมชนเกษตรกรเพาะปลูกลำไย ซึ่งได้ทำประกันภัยลำไยและได้ประโยชน์จากการทำประกันฯหลังจากเกิดปัญหาภัยแล้ง รวมถึง ชาวนาที่ จ.สกลนคร ที่ได้ทำประกันภัยข้าวนาปี เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ก็ได้รับประโยชน์จากการทำประกันภัยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการประกันภัยประมงที่ จ.สงขลา ซึ่งได้รับประโยชน์ หลังเกิดเหตุพายุปาบึก เป็นต้น” ดร.สุทธิพล ระบุ
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ ได้มีการเชิญภาคอุตสาหกรรมประกันภัยร่วมขณะไปกับสำนักงาน คปภ. ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงปัญหาและความต้องการแท้จริงของกันและกัน จะเน้นนำเสนอระบบประกันภัยในมิติของหน่วยงานกำกับดูแล หรือในมิติของบริษัทประกันภัยไม่ได้อีกแล้ว จะต้องรับรู้ระบบประกันภัยในมิติของภาคประชาชนด้วย จึงจะนำไปสู่โอกาสความสำเร็จในการเติบโต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ สำนักงาน คปภ.และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยต่างรู้สึกเป็นห่วง ก็คือ ขณะที่ชาวบ้านและเกษตรกรต่างมีความต้องการในระบบประกันภัย กลับมีคนบางกลุ่มให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ทั้งการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและรอบด้าน รวมถึงการหลอกลวง เช่น รับเงินค่าประกันมาแล้ว แต่ไม่ส่งเงินให้บริษัทประกันภัย จนทำให้กรมธรรม์หมดอายุ และไม่สามารถเรียกรับค่าสินไหมทดแทนได้
ดังนั้น การเชิญให้ตัวแทนอุตสาหกรรมประกันภัยเข้าร่วมคณะไปกับสำนักงาน คปภ.ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง จึงก่อประโยชน์อย่างมากมาย พร้อมกับนี้ สำนักงาน คปภ.ยังได้นำ “โมบาย ยูนิต” อาทิ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ รับฟังปัญหาจากชาวชุมชน และการไกล่เกลี่ย กรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างกัน เป็นต้น
ขณะที่ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยินดีที่จะร่วมคณะไปกับสำนักงาน คปภ. ในลักษณะ “คปภ.ไหน เราไปด้วย” พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยแก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ รวมถึงสร้างการรับรู้ในระบบประกันภัยอย่างถูกต้อง เป้าหมายคือ การทำให้ระบบประกันภัยกลายเป็น “ปัจจัยที่ 5” ในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการทำประกันภัยแก่ประชาชน สร้างหลักประกันการออมในอนาคต โดยไม่ต้องใช้เงินที่สูงมากนัก.