กรอ.บุกตรวจ บริษัทต้นตอ ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์
กรอ.ร่วมกับ กนอ.เดินหน้าตรวจสอบแหล่งที่มากากของเสีย ยืนยันกรมฯ ยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วตั้งแต่ 22 มิ.ย. 61 พบผิดสั่งปิดกิจกการ
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าในการตรวจสอบพื้นที่บริเวณทิ้งกากของเสีย บ้านหนองแก อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้วว่า ในวันนี้ กรอ. ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงของโรงงานที่เป็นข่าวภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เพื่อหาข้อสรุปและความชัดเจนในเรื่องของแหล่งที่มากองของเสียที่ตรวจพบในอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เพื่อหาผู้รับผิดชอบในการดำเนินการนำกากของเสียดังกล่าวไปดำเนินการกำจัดให้ถูกต้องต่อไป
และหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเศษวัสดุดังกล่าวเป็นของ บริษัทฯ ใด จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหานำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้นหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กนอ. มีอำนาจที่สามารถสั่งปิดกิจการได้ เพราะโรงงานดังกล่าวอยู่ในการดูแลของ กนอ.
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัด เพื่อตรวจสอบการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) ของ บริษัทฯ เอกชนที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นแหล่งที่มาของกองของเสีย พบการประกอบกิจการเศษเหล็กตัดย่อย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี มีการขออนุญาตนำเศษพลาสติกออกนอกบริเวณโรงงาน จำนวน 1,000 ตัน ไปทำการคัดแยกที่บริษัทรับคัดแยกอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่ไม่เป็นของเสียอันตราย และไม่พบว่ามีการได้รับอนุญาตให้นำของเสียไปคัดแยกที่จังหวัดสระแก้วแต่อย่างใด
“ขั้นตอนต่อไปเกี่ยวกับการดำเนินการกับกองวัสดุดังกล่าวจะต้องให้เจ้าของเศษวัสดุประสานพนักงานสอบสวนและอัยการจังหวัด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายหรือส่งไปกำจัด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมโรงงานฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก พร้อมมีมาตรการคุมเข้มทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ดังนั้นหากพบผู้กระทำผิดก็จะลงโทษตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นการสร้างปัญหาทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน” นายทองชัยฯ กล่าว
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 62ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีกองของเสีย (เศษพลาสติก ฟองน้ำ สายไฟ และแผงวงจร) ที่ผ่านการบดย่อยจากชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งผู้ดูแลพื้นที่ที่ถูกร้องเรียนแจ้งว่า ได้นำของเสียดังกล่าวมาจาก บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี มาทำการคัดแยกในบริเวณพื้นที่ของกรมป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.วังน้ำเย็น ดังนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 62 กล่าวหาว่า 1. กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ฐานกระทำด้วยการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2. กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ 3. กระทำผิดตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 มาตรา 16 ฐานห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการน้ำบาดาลในเขตน้ำบาดาลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองที่ดินในเขตน้ำบาดาลนั้นหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 62 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้วได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 12 ตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
“ในส่วนของมาตรา 12 นั้น ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ แต่หากผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ได้รับใบอนุญาตหรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดในมาตรา 8 (5) ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท”
นายทองชัยฯ กล่าวอีกว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งห้ามนำซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2561 จนถึงปัจจุบันทาง กรอ. ก็ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นคงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นการลักลอบนำเข้าหรือไม่ หรือเป็นขยะอุตสาหกรรมก่อนที่จะมีประกาศสั่งห้ามนำเข้า