ดัชนีเชื่อมั่นเดือนก.พ.ทรุด
“ม.หอการค้าไทย” เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.วูบต่อเป็นเดือนที่ 2 หลังพบคนไทยกังวลภัยแล้งมากขึ้น ชี้ภัยแล้งทำเงินหายจากระบบ 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนก.พ.59 ว่า ดัชนีปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเท่ากับ 74.7 ลดจาก 75.5 ในเดือนม.ค.59 โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 5 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 54.7 ลดจาก 55.3 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 5 เดือน เช่นเดียวกัน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 82.7 ลดจาก 83.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 6 เดือน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 63.5 ลดจาก 64.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 69.7 ลดจาก 70.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 90.7 ลดจาก 91.7
“ปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง มาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและรายได้ที่ลดลง สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจาก 3–4% เป็น 2.8–3.8% ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลาดหุ้นโลกผันผวน สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพ การส่งออกชะลอตัว ราคาพืชเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา และปศุสัตว์ตกต่ำ ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทั้งเบนซินและดีเซล , เงินบาทอ่อนค่า และค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง” นายวชิร กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า
สำหรับปัจจัยบวกในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แม้จะมีพอสมควร แต่ก็ไม่สามารถทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นได้ เช่น คณะกรรมการนโญบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2558 โต 2.8% และทั้งปี 58 โต 2.8% ซึ่งได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และ SET Index ปรับตัวสูงขึ้น
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.พ.59 ปรับตัวลดลง และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพราะก่อนหน้านี้ คนมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง แต่ตอนนี้ได้เพิ่มความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งมากขึ้น
”ประเมินว่า ปัญหาภัยแล้งจะมีผลกระทบต่อเม็ดเงินจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ 70,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินที่หายไปจากภาคเกษตร 50,000-70,000 ล้านบาท แพราะการทำนาปรังลดลง และอาจรวมถึงการทำนาปีด้วย ส่วนภาคอุตสาหกรรม การค้าและการท่องเที่ยวคาดว่าเม็ดเงินน่าจะหายไป 10,000-30,000 ล้านบาท เช่น โรงงานแปรรูปเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร โรงงานผลิตปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืช รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวน้ำตก และสวนน้ำ”
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลมีวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 87,000 ล้านบาทถือเป็น แผนรับมือที่ดี แต่ต้องเร่งกระจายเม็ดเงินลงไปให้ได้ก่อนช่วงสงกรานต์ หรือเดือนเม.ย.-พ.ค. เพื่อให้ทันต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ให้โตได้ 3% ขึ้นไป หากทำได้มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะโต 3-3.5% ซึ่งศูนย์ฯ จะมีการประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้.