กสอ.ยกระดับเครื่องเขิน สู่ อุตฯไลฟ์สไตล์
กสอ.จัดงาน lifestyle Lacquerware 2019 ยกระดับหัตถกรรมเครื่องเขิน สู่ อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ เพิ่มมูลค่าหัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก และเตรียมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องเขิน จังหวัดเชียงใหม่ เร็ว ๆนี้
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ.ได้งาน “lifestyle Lacquerware 2019” ยกระดับหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2562 ณ โซนไอคอนคราฟ ชั้น 4 ศูนย์การค้า ไอคอนสยาม กรุงเทพ เพื่อยกระดับหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และรักษาภูมิปัญญาเครื่องเขินล้านนา พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน และเกิดการคิดค้นการใช้งานรูปแบบใหม่ ที่ผลิตภัณฑ์เดิมไม่เคยทำมาก่อน (New Usage) หรือ สร้างคุณค่าใหม่ (New Value) ในสายตาของกลุ่มลูกค้าในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ (Potential Market)
ภายในงานได้รวบรวมองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านหัตถกรรมเครื่องเขินมาถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ พร้อมการจัดกิจกรรมทดสอบตลาดเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังมีการประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ โดยมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานกลิ่นอายรัก ของนายมานพ วงค์น้อย โดยได้รับโล่รางวัลและใบประกาศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานรักไหล ของนายสุกัลย์ ใจคำปัน ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานรักแรก ของนางสาววิจิตรา กิติศักดิ์ ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน Go(ld) Together ของนางสาวประทิน ศรีบุญเรือง ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท และ ผลงานแรกรักพบ ของนางศศิธร มงคลเรืองฤทธิ์ ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท
นายภาสกร กล่าว ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องเขินไทยมีมูลค่าการค้ากว่า 1.94 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดงาน “lifestyle Lacquerware 2019” ครั้งนี้ จะเป็นการสร้างกระแสการรับรู้งานหัตถกรรมเครื่องเขินให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและเป็นไลฟ์สไตล์ต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสืบสานต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ให้มีสืบต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน นอกจากนี้ กสอ. ยังเตรียมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องเขินขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในเร็วๆ นี้ด้วย.