“ฟาร์มจิ้งหรีด ชุติกาญจน์” สร้างมาตรฐานยกระดับสู่การส่งออก
ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยถือว่าอยู่ในลำดับต้นๆของโลก โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน เพราะไม่ว่าจะหยิบจับอะไรจากธรรมชาติก็สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้เกือบจะทั้งหมด ขนาดแมลงยังกลายเป็นอาหารอันโอชะที่มีทั้งรสชาติที่อร่อย และเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เรียกว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของทั้งคนไทย และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว
ปัจจุบันแมลงได้กลายเป็นอาหารขึ้นชื่อของประเทศไทย และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคต่างชาติ “ชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว” หญิงสาวจากจังหวัดสุโขทัย คือผู้ที่มองเห็นโอกาสจากอาหารบ้านๆอย่างแมลง แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ และขยายจนเติบใหญ่จนกระทั่งกลายเป็นฟาร์มเลี้ยงแมลงอย่างเป็นระบบ โดยเลือกมาแมลงประเภท “จิ้งหรีด” มา Startup ธุรกิจให้กับตนเอง ภายใต้ชื่อ “ฟาร์มจิ้งหรีด ชุติกาญจน์” และก่อตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดฟาร์มจิ้งหรีดชุติกาญจน์ในที่สุด
-จากอาชีพเสริมเป็นรายได้หลัก
ชุติกาญจน์ ในฐานะเจ้าของฟาร์มจิ้งหรีด ชุติกาณจน์ บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นไอเดียในการธุรกิจ ว่า ธุรกิจดังกล่าวนี้เริ่มประมาณช่วงเดือนตุลาคมของปี 2557 จากความต้องการในการหารายได้เสริมให้กับตนเอง จากงานรับราชการตามปกติ โดยมีโอกาสได้ไปพบเห็นชาวบ้านที่นิยมเลี้ยงจิ้งหรีดขาย แต่ยังขาดซึ่งประสิทธิภาพในการเลี้ยง เพราะเท่าที่พบเห็นจะมีจำนวนจิ้งหรีดที่เลี้ยงแล้วอยู่ไม่รอด หรือตายเป็นจำนวนมาก โดยมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เนื่องจากเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ขาดหายไป
นอกจากนี้ ยังเป็นการเลี้ยงแบบตามมีตามเกิดในภาษาชาวบ้าน ไม่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ตนจึงมีความคิดที่จะทดลอง และศึกษาการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยมีเป้าหมายในการทำให้จิ้งหรีดมีรอบการเติบโต และสามารถนำไปขายได้ทุกอาทิตย์ เพื่อให้มีรายรับเข้ามาทุกสัปดาห์ จากเดิมที่ชาวบ้านเลี้ยงกันจะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 40-45 วัน จึงจะมีรายได้ 1 ครั้ง
“ตนเริ่มต้นจากการเลี้ยงจิ้งหรีด 2 กล่อง และพบว่าสาเหตุที่จิ้งหรีดของชาวบ้านที่เลี้ยงกันตายเป็นจำนวนมากก็เพราะความไม่สะอาดของแผงไข่ที่ใช้เลี้ยง และน้ำที่ไม่สะอาดเพียงพอ ตนจึงแก้ปัญหาโดยการทำแผงไข่เลี้ยงให้สะอาด ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนจากการนำแผงมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อตามวิธีของชาวบ้าน มาใช้เครื่องอบในการฆ่าเชื้อแผงไข่ เพื่อให้เชื้อโรคตายแบบ 100% และใช้แหล่งน้ำที่สะอาดที่ในการเพาะเลี้ยง เข้าสู่กระบวนการเลี้ยงที่สะอาด ซึ่งสามารถลดอัตราการตายของจิ้งหรีดที่เลี้ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักในปัจจุบัน”
-อาหารทางเลือกในอนาคต
ชุติกาญจน์ บอกต่อไปอีกว่า จากการดำเนินการแบบเป็นระบบที่วางเอาไว้ จิ้งหรีดของเธอจะต้องโตพร้อมจำหน่ายในทุกอาทิตย์ ดังนั้นเธอจึงมีการวางรอบในการเลี้ยงเพื่อให้จิ้งหรีดเติบโตได้ตามแนวคิดของเธอ เพราะเธอรู้ว่าจิ้งหรีดจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟักไข่ประมาณ 7-9 วัน เพราะฉะนั้น เธอจึงต้องวางแผนในการเลี้ยงอย่างดี ถึงจะทำให้จิ้งหรีดของเธอพร้อมจำหน่ายได้ทุกอาทิตย์ โดยในตอนนั้นตั้งเป้าเลี้ยงให้ได้ 8 กล่องต่อหนึ่งสัปดาห์ เพื่อจะทำให้มีรายได้เข้ามาประมาณ 10,000 บาทต่อสัปดาห์ แต่ในปัจจุบันสามารถทำได้มากกว่า จนพัฒนากลายเป็นฟาร์มที่มีขนาดใหญ่รองรับออเดอร์จากทั้งในและต่างประเทศ
รูปแบบในการจำหน่ายจิ้งหรีดของฟาร์มประกอบด้วย 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1.ค้าปลีก ซึ่งเป็นช่องทางที่จำหน่ายได้ในราคาที่สูง, 2.ค้าส่งในประเทศ ซึ่งช่องทางดังกล่าวมีการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีคู่แข่งที่คอยกดราคาให้ต่ำเพื่อหวังจำหน่ายให้ได้ และ3.ตลาดส่งออก ซึ่งมีความต้องการเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผงโปรตีน เช่น ที่สหรัฐอเมริกา และประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น
ประโยชน์ของการรับประทานจิ้งหรีด คือจะทำให้ได้รับสารอาหารประเภทโปรตีน, ไขมัน และวิตามิน โดยปราศจากสารพิษ เพราะแมลงเป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกไวต่อสารเคมี ดังนั้น วิธีการเลี้ยงจึงต้องสะอาดอย่างมาก อย่างไรก็ดี นอกจากการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อจำหน่ายแบบสดแล้ว ฟาร์มจิ้งหรีดชุติกาญจน์ ยังมีการแปรรูปจิ้งหรีดเพื่อจำหน่ายด้วย ไม่ว่าจะเป็นจิ้งหรีดทอดปรุงรส, จิ้งหรีดอบปรุงรส, จิ้งหรีดบนเป็นผงสำหรับชงดื่ม หรือนำมาเป็นส่วนผสมอาหาร เช่น คุกกี้ หรือบราวนี่จิ้งหรีด และน้ำพริกจิ้งหรีด ทั้งหมดอยู่ภายใต้แบรนด์ “จิ้งหรีดแซ่บ”
ทั้งนี้ ยังมีการจำหน่ายอุปกรณ์ในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด ,ไข่จิ้งหรีด และพันธุ์จิ้งหรีดให้กับผู้ที่สนใจ โดยจะมีช่องทางในการจำหน่ายทั้งในรูปแบบของออนไลน์ทางเพจเฟสบุ๊ก (fastbook cricket by Chutikan farm ) และทางไลน์ (Line : .song3555) ขณะที่ช่องทางออฟไลน์จะเป็นการจำหน่ายหน้าฟาร์ม ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ที่ให้ความสนใจเข้ามาสั่งซื้อเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ช่องทาง
“มีบทวิเคราะห์จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ว่า แมลงจะเป็นอาหารทางเลือกในอนาคต หลังจากที่จำนวนประชากรจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 9 พันล้านคนในปี 2593 จากเดิมที่มีประชากรบนโลกอยู่ประมาณ 7.4 พันล้านคนในปี 2559 โดยจะมีผลทำให้การผลิตอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากหมู และไก่จะต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงที่นานกว่าจะโตพอเป็นอาหารได้ ขณะที่แมลงใช้เวลาเลียงประมาณ 40-45 วันเท่านั้นก็สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ ดังนั้น แมลงจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ในอนาคต ที่จะช่วยลดการขาดแคลนอาหารในอนาคตได้”
-ขยายฟาร์มสร้างลูกฟาร์มรองรับออเดอร์
ชุติกาญจน์ บอกอีกว่า แผนการขยายธุรกิจในปีนี้จีการดำเนินการเรื่องการขยายฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด โดยทำเป็นระบบโรงเรือนที่มีมาตรฐาน ซึ่งล่าสุดกำลังอยู่ในขั้นตอนของการขอหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม และทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจทำให้อาหารเป็นอันตราย เป็นพิษ หรือเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค (Good Manufacturing Practice : GMP) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะมีการดำเนินการเพิ่มจำนวนของลูกฟาร์ม เพื่อรองรับออเดอร์จำนวนมากจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน โดยฟาร์มจะสอนให้ตั้งแต่วิธีการเลี้ยงเบื้องต้นจนจบกระวนการ และยังมีการประกันราคาในการรับซื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกฟาร์มอีกด้วย โดยเชื่อว่าจากการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ฟาร์มมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทในปี 2561 จากเดิมที่รายได้เป็นตัวเลข 7 หลักในปีที่ผ่านมา
“ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนสำคัญในการทำให้ธุรกิจสามารถขยายได้อย่างรวดเร็วผ่านการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการลงทุน ซึ่งทำให้สามารถลงทุนในการสร้างออฟฟิต รวมถึงเพิ่มนวัตกรรมด้วยเครื่องอบแมลง และการพัฒนาฟาร์มให้มีการเลี้ยงในระบบปิด ทำให้ต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยพาไปออกงานแสดงสินค้า ทำให้ช่วยขยายตลาด และเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก”.