“PIM COSMETIX”ลิปสติกแฮนด์คราฟท์ศิลปะที่เข้าถึงได้
ความชอบมักเป็นจุดเริ่มต้นแห่งไอเดียในการทำธุรกิจ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถต่อยอดออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอสู่ผู้บริโภคได้ไม่ยาก และมักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี ที่มีคุณภาพ ซึ่งได้มาจากความตั้งใจ ดังนั้น จึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด “รัชนี นิมมานเทอดวงศ์” ก็คือหญิงสาวที่ Startup ธุรกิจของตนเองขึ้นมาจากความชอบส่วนตัวในเรื่องเครื่องสำอาง
จากความชอบสู่ธุรกิจ
รัชนี เจ้าของธุรกิจ บอกถึงที่มาที่ไปแห่งไอเดียในการทำธุรกิจ ว่า มาจากความที่ตัวเธอนั้นเป็นคนที่ชื่นชอบเครื่องสำอางที่มีสีสันสนุกสนาน บวกกับเป็นคนที่ชอบเที่ยวงานเทศกาลดนตรี หรืองานคอนเสิร์ตในรูปแบบมิวสิคเฟสติวัล (Music Festival) โดยเมื่อไปเที่ยวงานก็จะพกเครื่องสำอางที่มีสีสันแปลกตาไปแต่งหน้าของตนเอง และแต่งให้เพื่อน ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้ตัวเธอได้พบกับเพื่อนใหม่ๆ และรู้สึกสนุกกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ แต่หลังจากนั้นสีของเครื่องสำอางที่ตัวเธอใช้อยู่ก็เริ่มที่จะหาซื้อยากมากขึ้น จนบางครั้งต้องสั่งซื้อของแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาใช้
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ตัวเธอรู้สึกว่าหากมีเครื่องสำอางที่มีสีสันสวยงามแบบที่เธอต้องการใช้งานเองก็คงจะดี จุดเริ่มต้นของประกายไอเดียจึงก่อตัวขึ้น โดยใช้วิธีการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตจากเว็บไซด์ของนักเคมีในต่างประเทศซึ่งจะมีการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และนำมาทดลองหัดทำด้วยตนเอง โดยการสั่งวัตถุดิบที่ใช้สำหรับทำเอง (Do it yourself : D.I.Y) มาจากเว็บไซด์ของต่างประเทศ ซึ่งจะมีแบ่งขายให้กับผู้ที่นิยมทำสิ่งของเครื่องใช้ด้วยตนเองได้เอามาทดลองทำ โดยที่ตัวเธอเองก็เรียนจบทางด้านศิลปะมา จึงเข้าถึงได้ไม่ยาก
โดยได้ทดลองไปทำเรื่อยๆ และนำมาแบ่งให้เพื่อนได้ใช้งาน จนกระทั่งผลิตภัณฑ์ที่ทำมาถึงจุดที่ดีจนถึงขนาดที่เพื่อนแนะนำให้ทำออกมาเป็นแบรนด์เพื่อจำหน่าย เพราะเห็นว่าตัวเธอตั้งใจทำมาจนได้ถึงขนาดนี้ บวกกับความชอบและรักในสิ่งดังกล่าวนี้อยู่แล้ว จึงตัดสินใจไม่ละมิ้งโอกาสที่จะทดลองทำดู และสร้างเป็นแบรนด์ขึ้นมาภายใต้ชื่อ “พิม คอสเมติก” (PiM Cosmetix) ทั้งที่ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเป็นแบรนด์ออกมาจำหน่าย
ลิปสติกแฮนด์คราฟท์
รัชนี บอกต่อไปอีกว่า คำจำกัดความของผลิตภัณฑ์ที่ตัวเธอนำเสนอคือ “ลิปสติกแฮนด์คราฟ” ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ทำด้วยตนเองทั้งหมดทุกขั้นตอน ทั้งการบดสารให้สี (Pigment) การออกแบบแพ็คเกจ การทำกราฟฟิค และป้ายสติ๊กเกอร์ เป็นต้น โดยทุกขั้นตอนล้วนมาจากการทำด้วยมือ ซึ่งตัวแพ็คเกจมาจากไอเดียที่เห็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่พกลิปสติกมักจะทำหายบ่อยครั้ง หากจะทำเป็นแบบชิ้นใหญ่ก็คงจะเกะกะกระเป๋า เพราะบางครั้งเราก็ต้องการพกไปไหนมาไหนครั้งละหลายสี ดังนั้น จึงมีไอเดียในการทำแพ็คเกจให้สามารถร้อยเป็นสร้อย หรือคล้องเป็นพวงกุญแจสำหรับใส่ในกระเป๋าได้ด้วย
ทั้งนี้ จึงทำให้พกลิปสติกแท่งหลายสีได้ในครั้งเดียว สะดวกในการไปงานสังสรรค์ หรืองานเทศกาลดนตรี โดยมีหลากหลายสีสันให้เลือกใช้งาน และทำให้เป็นเอกลักษณ์ (Signature) เพื่อสร้างความแตกต่างของแบรนด์ให้ผู้บริโภคได้จดจำ ซึ่งปัจจุบันลิปสติกแฮนด์คราฟท์แบรนด์ “PiM Cosmetix” มีให้เลือกกว่า 30 สีสัน
เจาะกลุ่มคนรักศิลปะ
รัชนี บอกว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของแบรนด์คือ กลุ่มที่ชื่นชอบในงานศิลปะ โดยกิจกรรมทางการตลาดของแบรนด์จะเป็นการนำเสนอผ่านงานเทศกาลดนตรี โดยเปิดบูธให้ผู้ที่มาเที่ยวงานได้เข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์แห่งสีสันบนร่างกาย ซึ่งผู้มาร่วมงานสามารถทดลองใช้ลิปสติกแต่งแต้มไปยังจุดต่างๆของร่างกายได้ตามใจชอบ โดยเราเรียกการทำตลาดของแบรนด์ว่า เป็นการแบ่งปนศิลปะ ทำให้ผู้บริโภคจับต้องศิลปะได้ง่ายขึ้น
ช่องทางการทำตลาดหลักจะอยู่บนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟสบุ๊ก หรือไลน์แอด (Line@) เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศจะนิยมใช้ทั้ง 2 ช่องทางเป็นตัวเลือกแรก ส่วนช่องทางของเว็บไซด์ก็มีการดำเนินการไว้ แต่ยังไม่ได้มีการอัพเดทข้อมูลมากเท่ากับในเพจ แต่ในอนาคตหากมีการทำตลาดส่งออก ก็ใช้เว็บไซด์เป็นช่องทางหลัก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคต่างประเทศจะเชื่อถือเว็บไซด์มากกว่า ขณะที่ทางด้านออฟไลน์ก็จะเป็นงานกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศิลปะ ,เทศกาลดนตรี เป็นต้น โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีตัวแทนจำหน่าย หรือวางจำหน่ายที่ร้านเครื่องสำองทั่วไป
“ตอนเปิดตัวครั้งแรกเราทำการโปรโมทโดยการให้เพื่อนๆที่ทำงานทางด้านศิลปะหลากหลายอาชีพ กราฟิกตี้ ,เพ้นท์เตอร์ และจิตกร เป็นต้น ได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ก่อน เพราะเรารู้สึกว่ากลุ่มคนเหล่านี้น่าจะสื่อสารกันได้เข้าใจมากที่สุด หลังจากนั้นจึงรวบรวมผลงานทั้งภาพถ่าย และงานเพ้นท์มาจัดแสดงที่งานทางด้านศิลปะ โดยจัดเป็นกิจกรรมเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าลิปสติกไม่ได้มีไว้ใช้แค่ทาปาก แต่สามารถนำไปทำงานศิลปะได้ ซึ่งผู้ที่มาร่วมงานก็คือบุคคลทั่วไป ไม่จำเป็นต้องจบทางด้านศิลปะ เพราะเราเปิดกว้างให้ทุกคนได้เข้าถึงงานศิลปะได้”
เน้นสร้างการรับรู้
รัชนี บอกอีกว่า สีที่ตัวเธอใช้เป็นส่วนผสมของลิปสติกเป็นแบบฟู๊ดเกรดที่สามารถรับประทานได้ เนื่องจากเป็นแบบออกแกนิก โดยผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งเด็กก็ใช้งานได้ อีกทั้งยังมีส่วนผสมของสารสกัดธรรมชาติบำรุงริมฝีปากด้วย และถือเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique) โดยที่ตัวขวดจะถูกออกแบบให้เหมือนงานศิลปะ ขณะที่ทุกเฉดสีก็จะมีเอกลักษณ์ในแต่ละสี และเมื่อไปออกงานร่วมกับงานใดก็จะมีที่เป็นโลโก้ของงานมาใส่ไว้ด้วย
ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดปีนี้นั้น ตลาดในประเทศ มองว่าอาจจะมีจุดที่วางจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ โดยอาจจะทำเป็นสีพิเศษ หรือคอลเลกชั่นพิเศษเฉพาะจุด เช่น หากไปที่แกลลอรี่แห่งนี้ก็จะมีสีที่เป็นเอกลักษณ์ หรือหากไปอีกแห่งหนึ่งก็จะมีสีเอกลักษณ์เฉพาะอีกสีหนึ่ง ให้ผู้บริโภคที่ตามหาและเป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งในการหาซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะไม่ใช่เป็นการวางจำหน่ายที่ร้านเครื่องสำอางทั่วไป เพราะแบรนด์เราเป็นไลฟ์สไตล์โปรดักส์ โดยที่การทำตลาดในระยะต่อไปจะเป็นแบบที่เป็นอุปกรณ์ (Accessory) ผสมผสานกับแฟชั่น ซึ่งจะเป็นการนำทักษะทางด้านกราฟิกดีไซน์มาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น
ขณะที่การทำตลาดต่างประเทศ ล่าสุดมีงานเทศกาลดนตรีติดต่อให้ไปออกงานจำนวนมาก โดยแบรนด์เองก็มองว่าในอนาคตน่าจะมีช็อปแสดงสินค้าที่เป็นของแบรนด์เอง แต่ในช่วงแรกจะต้องสร้างการรับรู้ให้ได้เสียก่อน ซึ่งการออกงานเทศกาดนตรี หรือกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ แบรนด์ของเราก็จะถูกแนะนำ หรือโปรโมทต่อผู้ที่มาร่วมงานด้วย
“เรายังเป็นอินดี้แบรนด์อยู่ จึงยังไม่ได้มีการตั้งเป้าเรื่องรายได้ที่ชัดเจน ตอนนี้มีงานส่งออกแต่ยังบอกมูลค่าไม่ได้ เราใช้เรื่องการดีไซน์ให้คนจำเราได้ การตลาดของเราเป็นเรื่องของการดีไซน์ล้วนๆ ให้คนรับเรื่องการดีไซน์ให้คนเข้าหา ได้เห็นคุณค่าของการดีไซน์กับโปรดักส์ เพราะคนไทยยังไม่ได้ให้คุณค่ากับงานศิลปะเท่าที่ควร เราเลยต้องกระจายการรับรู้ และสร้างกิจกรรมขึ้นมาให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าว่าทำไมเราถึงแตกต่าง ที่ต่างประเทศต้องการผลิตภัณฑ์ของเราไปขายมาก เพียงเราส่งโปรไฟล์ก็ตอบรับทันที เค้าเห็นคุณค่าของงานแฮนด์คราฟท์ และให้คุณค่าของงานดีไซน์มาก ยิ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งยินดี”