“BIY” แตกต่างที่ไอเดียเน้นจำหน่ายเมล็ดกาแฟ
ช่องว่างทางการตลาดยังมีอยู่เสมอ แม้ว่าธุรกิจนั้นจะมีผู้เล่นมากมายเพียงใดที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ ธุรกิจกาแฟเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในฝันของใครหลายคน ดังจะเห็นได้จากจำนวนร้านที่เปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็มีบางรายเช่นเดียวกันที่ไม่อาจฝืนทนยืนหยัดอยู่ในสมรภูมิการแข่งขันอันดุเดือดได้ ซึ่งเด็กหนุ่มอย่าง “สิริชัย สาครวิศว” ก็คืออีกหนึ่งคนที่เลือกจะก้าวเข้าสู่สังเวียนการแข่งขัน เพียงแต่เข้ามาด้วยมุมมองที่แตกต่างของการนำเสนอ และค่อยๆ Startup ธุรกิจขึ้นมาตามสเต็ปที่วางเอาไว้ภายใต้แบรนด์ “Biy”
สร้างพื้นที่ทางการตลาด
สิริชัย ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีนส์ เฮียร์ จำกัด บอกว่า แบรนด์ “Biy” เป็นแบรนด์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟ โดยมีจุดเริ่มต้นของไอเดียมาจากการเดินทางไปยังจังหวัดน่าน และได้มีโอกาสเข้าฟังเสวนาในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับกาแฟเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจาการฟังในครั้งนั้นทำให้ค้นพบว่าในความเป็นกาแฟนั้นมีความแตกต่างกัน ไม่ใช่เป็นแค่สิ่งที่รับประทานแล้วมีแต่ความขมและความเข้มขอน้ำสีดำเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องสายพันธุ์ เรื่องการดูแล หรือแม้กระทั่งวิธีการปลูก และอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อรสชาติกาแฟ
จากความสลับซับซ้อนดังกล่าวทำให้มองว่ากาแฟเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะมีแนวทางในการต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจได้ แต่ธุรกิจของตนจะต้องมีความแตกต่าง เพื่อสร้างพื้นที่ทางการตลาดให้กับแบรนด์ โดยกลยุทธ์การทำตลาดในสเต็ปแรก หรือช่วงแรกสุดจะเป็นการพัฒนาเว็บไซด์ เพราะจะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากการปล่อยเนื้อหา หรือคอนเท้นท์ (Content) ต่างๆเกี่ยวกับกาแฟ ซึ่งตนจะพยายามย่อยเนื้อหาสิ่งที่ยากให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจได้ง่าย
หลังจากนั้นในสเต็ปต่อมา จึงเริ่มดำเนินการเรื่องการจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับกาแฟ และสเต็ปสุดท้ายที่แบรนด์ตั้งใจจะดำเนินการตั้งแต่ช่วงที่มีไอเดียในการทำธุรกิจก็คือการจำหน่ายเมล็ดกาแฟ ทั้งที่เป็นแบบเมล็ดกาแฟสาร และเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้ว โดยต่อเนื่องมาเป็นร้านคาเฟ่ ซึ่งจะเป็นทั้งออฟฟิตที่นั่งทำงาน รวมถึงพื้นที่ในการสต็อกสินค้า หรือโชว์รูม และสถานที่ให้ลูกค้าได้ทดสอบ และได้ทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ จึงเป็นที่มาชื่อแบรนด์ “Biy” (Brew It Yourself) หรือกาแฟที่ชงดื่มได้ด้วยตนเอง
“เราทำทุกอย่างแบบเป็นขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าได้เรียนรู้ธุรกิจไปพร้อมกับการสื่อสารของเราในแต่ละสเต็ป จนมาถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงซึ่งแบรนด์ต้องการจะนำเสนอสู่ลูกค้านั่นก็คือ การจำหน่ายเมล็ดกาแฟ”
ตัวกลางเชื่อมกาแฟสู่ผุ้บริโภค
สำหรับจุดเด่นของแบรนด์ “Biy” นั้น สิริชัย มองว่า แบรนด์เปรียบเสมือนเป็นผู้สื่อสาร หรือตัวกลางที่ทำให้ผู้บริโภค รวมถึงคนทั่วไป และผู้สนใจเรื่องของกาแฟอยู่ได้เข้าสู่โลกของกาแฟได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพของกาแฟไทยให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย
เหตุผลที่แบรนด์เลือกที่จะจำหน่ายเมล็ดกาแฟมากกว่าจำหน่ายกาแฟแบบแก้ว หรือเปิดเป็นร้านในรูปแบบคาเฟ่แบบทั่วไป เพราะด้วยรูปแบบ หรือโมเดลของธุรกิจ หากจะเปิดร้านเหมือนทั่วไปก็เห็นว่าในปัจจุบันมีร้านเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก การแข่งขันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ามองลึกลงไปว่าหากนอกเหนือจากร้านที่เปิดกันมากมาย ซึ่งมีเงินทุนก็สามารถทำได้ สเต็ปต่อไปจะอยู่ที่ตรงไหน เราจึงมองให้ลึกลงไปอีกว่าแล้วเมล็ดกาแฟผู้ใดเป็นคนจัดการ ผู้ใดเป็นคนคั่ว เราเลยไปดูว่าผู้คั่วเค้าคั่วกันอย่างไร คั่วแบบไหน
“เราลงลึกเข้าไปดูว่าผู้คั่วนั้นหากมีเงินทุนก็สามารถซื้อเครื่องมาคั่วได้ ที่สำคัญได้ผลตอบแทนเยอะมากหลังจากที่หักต้นทุน แต่ผู้ที่ขายเมล็ดกาแฟสารซึ่งเป็นเกษตรกรอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่ธุรกิจ มีผู้ใดที่เข้าไปดูแลหรือไม่ ดังนั้น เราเลยคิดว่าควรที่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เปลี่ยนแปลงไปบ้าง อย่างไรก็ตาม หากถามว่าเราเป็นเจ้าแรกหรือไม่ที่ทำธุรกิจในลักษณะแบบนี้ก็คงจะไม่เชิง แต่หากถามถึงไอเดียน่าจะเป็นรายแรกๆ ซึ่งช่วงหลังก็จะมีดำเนินการในลักษณะคล้ายกัน แต่การซื้อขายจะไม่ใช่ทำบนเว็บไซด์เหมือนของบริษัท แต่จะเป็นแนวของโรงเรียนสอนทำกาแฟ (Host school) หรือบริษัทที่ซื้อขายเมล็ดกาแฟ และสินค้าทั่วไป”
พัฒนาออนไลน์พร้อมจัดกิจกรรม
ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดในปีนี้นั้น แบรนด์ “Biy” จะมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเมล็ดกาแฟมากขึ้น ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ โดยทำควบคู่ไปกับการจัดกรรมให้ผู้บริโภคที่ได้มีโอกาสเข้ามาลิ้มลองรสชาติของกาแฟมากขึ้น เพื่อให้ได้เรียนรู้ว่าความต่างของกาแฟแต่ละสายพันธุ์ และวิธีการคั่วนั้นเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้ยังจะมีวิธีการปรับเรื่องการค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต (search engine) ของแบรนด์ให้ดีขึ้น และการปรับเว็บไซด์ (www. Beanshere.com)ให้มีตารางของกิจกรรม เพื่อให้ลูกค้าได้ติดตามนอกจากเพจบนเฟสบุ๊กซึ่งมักจะถูกดันลงไปอยู่ข้างล่างตามการออกแบบของโปรแรกม
ด้านลูกค้าหลักของแบรนด์ยังเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศ ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่นิยมทำกาแฟดื่มเองที่บ้านเป็นหลัก (Home user) ยังไม่ได้มุ่งเน้นไปยังต่างประเทศ แต่ก็เป็นแผนที่จะดำเนินการในอนาคต โดยกำลังอยู่ในขั้นของการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งอาจจะเป็นการปรับรูปแบบของธุรกิจให้สามรถเติบโตได้ง่าย เพราะเราไม่กำหนดชัดเจนว่าจะต้องเป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยยังต้องมีรายละเอียดอีกเล็กๆน้อยๆเพื่อลุยตลาดต่างประเทศ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม คาดว่าน่าจะอีกประมาณ 1-2 ปี
“การขยายตลาดเราจะพยายามหาพาทเนอร์ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่จะสามารถมีผลิตภัณฑ์เข้ามาจำหน่ายร่วมกันได้ แต่เราจะต้องดำเนินการเรื่องการจัดการระบบขนส่ง (Logistice) ให้ดี เช่นเดียวกับการหาพาทเนอร์ในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาด โดยเราจะเน้นที่การขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการชงกาแฟ แต่ที่จะเน้นมากยิ่งขึ้นก็คือเรื่องของเมล็ดกาแฟที่จะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ซื่อสัตย์และโปร่งใส
สิริชัย บอกถึงหลักคิดในการทำธุรกิจด้วยว่า เน้นที่เรื่องของความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ไม่หลอกลวงลูกค้า เช่น เราจะไม่บอกว่ากาแฟสายพันธุ์นี้เป็นอย่างไร หือดีอย่างไร แต่เราจะบอกตามข้อเท็จจริงว่าสายพันธุ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งจะเปรียบได้กับสินค้าเกษตร ซึ่งในบางครั้งตอนที่ได้มาอาจจะดี แต่เมื่อเก็บไปสักระยะอาจจะไม่ได้ เราก็ต้องบอกลูกค้าไปตามตรง หรือการเลือกใช้สินค้าว่ามีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร เราจะพยายามให้ข้อมูลกับลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ลูกค้าได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่ากำลังเลือกสินค้าที่เหมาะกับตัวลูกค้าหรือไม่ จะไม่เน้นเรื่องการขายสินค้ามากจนเกินไป นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องความโปร่งใส สามารถระบุแหล่งที่มาได้ว่าสินค้าแต่ละชนิดมาจากที่ไหน อย่างไร หรือเป็นเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ไหนจากประเทศใด
“ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะมาลองที่ร้าน แล้วซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน โดยปัจจุบันจะเน้นจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับการชงกาแฟมากกว่า ซึ่งส่วนมากผู้ซื้อก็จะเป็นร้านกาแฟ และผู้ทานตามบ้านปนๆกันไป ส่วนเมล็ดกาแฟจะนำขึ้นจำหน่ายบนเว็บภายใน 1-2 เดือนนี้ ตอนนี้กำลังดำเนินการนำเมล็ดกาแฟสารขึ้นเว็บอยู่ และจะมีเมล็ดกาแฟคั่วตามมา โดยเมล็ดกาแฟสารก็จะมีพวกกลุ่มโรงคั่วที่ซื้อ หรือผู้ที่ต้องการทดลองนำไปคั่วเองที่บ้าน เพราะเราไม่ได้ระบุว่าจะต้องจำหน่ายในปริมาณมาก แต่จะจำหน่ายเป็นกิโลกรัม ซึ่งคนก็จะเข้าถึงได้ง่ายกว่า โดยในระยะถัดไปเราจะเน้นที่การขยายเมล็ดกาแฟเป็นหลัก ส่วนอุปกรณ์ก็จะดูว่าชิ้นไหนขายได้ก็จะคงไว้ แต่จะไม่เพิ่มไลน์สินค้าไปมากกว่านี้”