“ฟรุ๊ต แฟมิลี่” ผลไม้อบแห้งเจาะตลาดส่งออก
ทุกธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงไม่ว่าธุรกิจนั้นจะมีความมั่นคงมากเพียงใดก็ตาม เพราะโลกของความต้องการ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงที่ดีจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บลูโอเชี่ยน พาวเวอร์ จำกัด ที่ Startup ขึ้นมา เพราะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ “จรุงศักดิ์ เชื้อปิติวงศ์” กรรมการผู้จัดการ
-สร้างความสมดุลให้ธุรกิจ
อุมาพร ศุภจินดาชัยกุล ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท บลูโอเชี่ยน พาวเวอร์ จำกัด บอกถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า มาจากคุณจรุงศักดิ์ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างและตกแต่งภายใน ซึ่งต้องการหาธุรกิจลงทุนเพิ่มเติม หลังจากที่พิจารณาแล้วว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างนิ่ง การทำธุรกิจแบบเดิมเพียงอย่างเดียวอาจจะมีความไม่แน่นอน ดังนั้น จึงต้องการกระจายความเสี่ยง และสร้างความสมดุลให้กับธุรกิจ ประกอบกับที่คุณจรุงศักดิ์ได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวชมงานไทยเฟล็ก (Thaiflex) และเกิดความประทับใจ จากที่ได้พบเห็นผู้ค้าจากต่างประเทศที่ให้ความสนใจธุรกิจประเภทอาหาร และผลไม้ของประเทศไทย
หลังจากที่กลับมาจากการเที่ยวชมงาน คุณจรุงศักดิ์จึงเล็งเห็นว่าธุรกิจการทำผลไม้อบแห้งน่าจะเหมาะสมกับการทำตลาด เพราะผลไม้ไทยมีรสชาติที่อร่อยเป็นที่ยอมรับของภูมิภาคเอเชีย และน่าจะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของผลไม้ได้ในอนาคต โดยเริ่มต้นจากทดลองนำผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งแบรนด์อื่นมาทดลองทำตลาด เพื่อดูผลตอบรับจากผู้บริโภคก่อน เนื่องจากยังไม่ต้องการต้องการลงทุนด้วยตัวเองทั้ง 100% เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของธุรกิจ เมื่อเห็นว่าตลาดมีช่องทางที่สามารถเดินหน้าไปต่อได้ จึงเริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเองในช่วงเดือนมิถุนายน 2558 ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ฟรุ๊ต แฟมิลี่ (FRUIT FAMILY)”
ผลไม้อบแห้งแบรนด์ “ฟรุ๊ต แฟมิลี่” มี 6 ประเภท ได้แก่ 1.มะม่วง, 2.ขนุน, 3.ส้ม, 4.สับปะรด, 5.มะละกอ และ6.แคนตาลูป โดยมีทุเรียนอบแห้งจากแบรนด์อื่น ซึ่งสนิทสนมกันที่บริษัทรับมาทำตลาดต่างประเทศให้ เพราะโรงงานดังกล่าวมีศักยภาพในการผลิต แต่ไม่มีฝ่ายที่เชี่ยวชาญทางด้านการส่งออก อย่างไรก็ดีแม้ว่าทุเรียนฟรีซดรายจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคต่างประเทศ แต่คุณจรุงศักดิ์ก็ไม่ต้องการจะนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตนเอง เพราะมองว่าเมื่อบริษัทมีทุเรียนอบแห้งเป็นแบรนด์ของตนเอง ก็จะมุ่งเน้นแต่การทำตลาดให้แบรนด์ และเพื่อไม่ให้เป็นการแย่งลูกค้ากัน บริษัทจึงตัดสินใจไม่เลือกทุเรียนฟรีซดรายมาทำแบรนด์
-เนื้อนุ่มใกล้เคียงผลไม้สด
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ฟรุ๊ต แฟมิลี่” นั้น อุมาพร บอกว่า อยู่ที่รสชาติของผลไม้ไทยที่อร่อย และเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วจากผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นสูตรที่ใช้น้ำตาลน้อย และเป็นสูตรซอฟท์ดราย (Soft dry) ซึ่งทำให้เนื้อผลไม้ยังคงความนุ่ม และคงรสชาติได้ใกล้เคียงกับผลไม้สดมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการคัดสรรผลไม้คุณภาพดีมาแปรรูป แต่จำหน่ายในราคาที่ไม่สูง
ส่วนช่องทางการทำตลาดนั้น ในส่วนของตลาดในประเทศผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะวางจำหน่ายที่ท็อปซุบเปอร์มาร์เก็ต (Top Supermarket) 20 สาขาในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ และตามเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เป็นต้น รวมถึงการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป 4 แห่ง ได้แก่ สยามพารากอน, เอ็มโพเรียม (Emporium), เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) และเดอะมอลล์โคราช
ขณะที่การทำตลาดต่างประเทศนั้น หลังจากที่ได้มีการออกงานไทยเฟล็กก็ทำให้มีลูกค้าติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย อีกทั้งยังมีการแนะนำกันแบบปากต่อปาก ส่วนบางรายก็ได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่สยามพารากอน และให้ความสนใจติดต่อเข้ามาขอเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยมีประเทศจีนเป็นลูกค้าหลัก อย่างไรก็ตาม การทำตลาดในปีนี้จะมุ่งเน้นการทำตลาดที่ประเทศทางแถบยุโรป และตะวันออกกลาง เพื่อสร้างความสมดุลให้กับยอดขาย และกระจายความเสี่ยงไปยังทวีปอื่นบ้าง เนื่องจากปัจจุบันจากยอดส่งออก 80% จะเป็นประเทศจีนไปแล้วกว่า 90%
” ที่บริษัทไม่มุ่งเน้นการทำตลาดในประเทศ ก็เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยยังคงนิยมการรับประทานผลไม้แบบสด และคนไทยเองก็อยู่ใกล้ชิดกับผลไม้สดอยู่แล้ว เช่นเดียวกับประเทศในแถบเออีซี (AEC) ดังนั้น บริษัทจึงเลือกที่จะทำตลาดส่งออกไปยังประเทศแถบอื่นมากกว่า “
อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนที่สร้างโรงแพคผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง เพื่อรองรับการขยายตัวของการส่งออก เนื่องจากมองว่าในบางเวลาที่มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากโรงงานที่ทำให้บริษัทจะมีกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ โดยมองว่าเมื่อมีโรงแพคผลิตภัณฑ์เอง บริษัทก็จะสามารถนำคำสั่งซื้อในจำนวนที่ไม่มากมาแพคเองได้ เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเสียโอกาสทางการค้า
” จากกลยุทธ์การทำตลาด และปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตเชื่อว่าในปีนี้บริษัทจะมียอดรายได้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทจากยอดออเดอร์ที่มีการเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ยังไม่รวมรายได้จากลูกค้าที่จะมางานไทยเฟล็กปีนี้ และลูกค้าจากการรับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจาธุรกิจค่อนข้างนาน จึงยังไม่ได้มีการตั้งเป้าตัวเลขรายได้เอาไว้ “
-บริการดีใส่ใจลูกค้า
อุมาพร บอกต่อไปอีกว่า กุญแจสำคัญที่ไขประตูนำทางไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจนั้น มาจากการให้บริการที่ดี โดยบริษัทจะตอบลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาทางอีเมล์ภายใน 24 ชั่วโมง แม้ว่าในบางครั้งจะยังไม่มีคำตอบที่ลูกค้าต้องการ แต่ก็จะตอบกลับไปเพื่อให้รู้ว่าทางบริษัทได้รับทราบแล้วและพยายามที่จะหาคำตอบให้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการใส่ใจกับลูกค้า อีกทั้งยังตอบได้ทุกช่องทางที่สามารถติดต่อกันได้บนโลกโซเซียล ไม่ว่าจะเป็นวีแชท หรือไลน์ นอกจากนี้ ในเวลาที่ลูกค้าต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปทดลอง บริษัทก็จะส่งให้แบบไม่อั้นตามคำขอ และไม่คิดค่าบริการในการส่ง ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ จนต้องสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัท
” ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยสนับสนุนเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจ เนื่องจากบริษัทมีการทำตลาดหลักทางด้านส่งออก ทำให้ต้องรับมือกับความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งในปัจจุบันเงินบาทก็ค่อนข้างที่จะแข็งค่า ทำให้รายได้ของบริษัทหายไปตามราคาของค่าเงิน ดังนั้น บริษัทจึงต้องเลือกใช้วิธีการถือครองสกุลเงินต่างประเทศไว้ก่อน และค่อยแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเมื่อเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเงินสินเชื่อจาก ธพว. สามารถช่วยบริษัทได้เป็นอย่างมาก “.