เจาะตลาด “อาเซียน-ยุโรป” ที่พึ่งสินค้าไทย
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ทำให้ภูมิภาคอาเซียนได้รับอานิสงส์การย้ายฐานการผลิตของห่วงโซ่ซัพพลายโลกเข้ามายังประเทศภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคในการรองรับการลงทุน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้กล่าวไว้ พร้อมบอกว่า จังหวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแกนหมุนเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสเอสเอ็มอีในการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการของไทยในตลาดเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวีที่มีความคุ้นเคยและยอมรับสินค้าไทยพัฒนาสินค้าส่งเข้าไปทำตลาด ซึ่งหากทำยอดขายขยับขึ้นมาได้สัก 1% ก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในตลาดซีแอลเอ็มวีเพิ่มสูงขึ้น และยังช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดในระยะยาวไว้ได้
ทั้งนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามอยู่ที่ 4.5% มาเลเซีย 4.3% อินโดนีเซีย 4.1% อินเดีย 3.5% ฟิลิปปินส์ 3.4% ฮ่องกง 6% ออสเตรเลีย 4.9% ญี่ปุ่น 9.7% และจีน 10.8% เช่นเดียวกับ อินเดียเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อินเดียจะกลายเป็นอีกตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ส่วนการส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนลดลงมากถึง 14.11%
สำหรับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยในอาเซียน ที่เป็นดาวรุ่งยังคงเป็น รถยนต์ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล อัญมณี แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
เจาะตลาดรายประเทศ
ด้านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำแผนเจาะตลาดส่งออกในปี 2562 โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งงานแสดงสินค้าที่จะช่วยสร้างโอกาสในการขายให้กับสินค้าไทย การโปรโมตแบรนด์ไทย การผลักดันให้คนไทยไปลงทุนในอาเซียน ผลักดันธุรกิจบริการ การมุ่งเจาะตลาดเมืองรอง ตลาด CLMV การค้าชายแดน
ตลาดเอเชียใต้ ตั้งเป้าโต 8% จะเน้นเจาะตลาดอินเดีย ที่ต้องให้ความสำคัญในระดับเดียวกันกับตลาดจีน โดยจะเน้นการสร้างพันธมิตรในการขยายตลาด การเจาะกลุ่มลูกค้าคนรวย (ซุปเปอร์ ริช) กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีอายุประมาณ 28 ปี ที่มีเป็นจำนวนมาก การขยายตลาดผ่านการค้าออนไลน์ รวมถึงการใช้โอกาสจากนโยบายเมดอินอินเดีย ที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกเครื่องจักรของไทย และการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)
ตลาดตะวันออกกลาง ตั้งเป้าโต 3% และแอฟริกา ตั้งเป้าโต 10% มีแผนจะเพิ่มกำลังคนให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ และคนท้องถิ่น เพื่อช่วยทำการตลาด โดยสินค้าที่มีโอกาส คือ เกษตร อาหาร เครื่องจักร และวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งธุรกิจบริการ
ขณะที่ตลาดลาตินอเมริกา ตั้งเป้า 6% จะใช้สำนักงานทูตพาณิชย์ที่เม็กซิโก เป็นศูนย์กลางในการเจาะตลาดเข้าเม็กซิโกและชิลี โดยสินค้ามีโอกาสทุกตัว แต่ติดอุปสรรคที่การขนส่งไกล ต้นทุนสูง ซึ่งจะใช้เทรดดิ้ง คอมปานี ในการบริหารจัดการแทน ตลาดรัสเซียและ CIS ตั้งเป้าโต 10% จะเร่งผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการโปรโมตสินค้าไทยผ่านนักท่องเที่ยว และตลาดจีน ตั้งเป้าโต 12% ปัจจุบันมีสำนักงานทูตพาณิชย์ 8 แห่ง แต่ยังไม่เพียงพอ มีแผนจะเพิ่มกำลังคนลงไปอีก เพื่อเจาะตลาดเป็นรายมณฑล โดยเฉพาะจีนตอนเหนือและจีนตะวันตกที่สินค้าไทยยังเข้าไปไม่มากนักและยังมีช่องว่างอีกมาก
ส่วนกลุ่มตลาดที่ต้องปรับรูปแบบการเจาะตลาด ส่วนใหญ่เป็นตลาดเดิม ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น จะใช้กลยุทธ์การเจาะตลาดแบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับใหม่และแบ่งกลุ่มเจาะตลาดให้ชัดเจน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มรักสุขภาพ กลุ่มมิลเลนเนียล และกลุ่มสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ตลาดส่งออกรถยนต์ “เวียดนาม” รุ่ง
ขณะเดียวกัน รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกรถยนต์ของไทยปี 2562 น่าจะอยู่ที่ 1.15 -1.18 ล้านคัน ขยายตัวเล็กน้อยประมาณ 1%- 4% จากปี2561 โดยตลาดที่จะขยายตัวได้ดี คือ โอเชียเนีย และเอเชีย ที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกอยู่แล้ว โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพใหม่ที่มีโอกาสขยับขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 3 ของประเทศที่ไทยส่งออกรถยนต์ไปมากที่สุดในปีหน้า หลังปัญหา Decree 116 (กฏหมายใหม่ของเวียดนาม) คลี่คลายลงบางส่วน
และยังประเมินว่าไทยจะส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามในปีหน้า ได้ดีขึ้นถึง 14%-22% คิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออก 61,000 – 65,000 คัน ส่งผลให้เวียดนามกลายมาเป็นตลาดส่งออกรถยนต์หลักที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย และมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นหลังจากไทยสามารถแก้ปัญหา จากการที่เวียดนามออกกฎหมายใหม่ Decree 116เพื่อควบคุมการนำ เข้ารถยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 ได้บางส่วน ส่งผลให้รถยนต์ที่ผลิตจากไทยสามารถส่งออกไปยังเวียดนามได้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว
“อีโค อีวี” มีลุ้น ยุโรป-อเมริกา
ขณะที่ทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งค่ายรถมีการทยอยย้ายฐานการผลิตไปผลิตไปบางประเทศ เพื่อให้ได้ต้นทุนขนส่งที่ถูกลง และรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงเสรีทางการค้า โดยเฉพาะทวีปยุโรปที่ปัจจุบันเห็นผลของการย้ายฐานเพิ่มมากขึ้นคาดว่าไทยจะส่งออกไปทวีปยุโรปในระดับทรงตัวถึงหดตัว 4% คิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออก 118,000 – 123,000 คัน
อย่างไรก็ตาม ไทยอาจยังมีโอกาสส่งออกไปทวีปยุโรปได้สูงกว่าที่คาด หากโครงการอีโคอีวีสามารถผลักดัน และทำให้เกิดเป็นรูปธรรมจนมีการลงทุนผลิต และออกวางจำหน่ายรวมถึงส่งออกได้จริงในช่วงครึ่งหลังของปี 62 เนื่องจากรถยนต์ในกลุ่มอีโคอีวีน่าจะเป็นประเภทรถยนต์ที่สามารถเข้าไปบุกตลาดทวีปยุโรปที่เน้นหนักเรื่องการควบคุม ปริมาณไอเสียจากรถยนต์ รวมถึงสนับสนุนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกรถยนต์ไทยไปทวีปยุโรปได้ในอนาคต
สำหรับตลาดส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยในปีนี้น่าจะต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหลายด้าน เมื่อเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศต้องเจอกับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าโลก ความผันผวนของอัตราค่าเงินในประเทศคู่ค้า และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง ไม่เพียงเท่านี้การย้ายฐานการผลิตรถยนต์เข้าใกล้ตลาดมากขึ้น เพื่อการลดต้นทุนขนส่ง
นอกจากนี้การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในบางกรณีอาจส่งผลลบต่อการส่งออกรถยนต์ไทย เช่น ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือที่จะมีผลในระยะถัดไปด้วย หลังความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (United States-Mexico-Canada greement: USMCA)ซึ่งมีการตั้งข้อกำหนดเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้ารถยนต์ที่เข้มงวดขึ้นมาก และมุ่งเน้นให้เกิดการผลิตในกลุ่มประเทศสมาชิก จะถูกนำมาใช้ตั้งแต่ต้นปี 63 ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกไทยตั้งแต่ช่วงปี 62 จากการลงทุนของค่ายรถในประเทศสมาชิก USMCA มากขึ้น