“อาเซียน” บรรลุความร่วมมือด้านพลังงาน
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 บรรลุความร่วมมือ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียน อย่างยั่งยืน
ทั้งด้านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีในภูมิภาค การเชื่อมโยงโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
เมื่อเร็วนี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและคณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (36th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 36th AMEM) ภายใต้ธีม Transforming Energy : Invest, Innovate, Integrate ระหว่างวันที่ 25 – 30 ตุลาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน จากทั้ง 10 ประเทศอาเซียน และ 8 ประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และ 2 องค์กรระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA)
การประชุมฯ ครั้งนี้ ได้ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) ปี 2559-2568 ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559-2563 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงและการบูรณาการด้านพลังงาน โดยในการประชุมจะมีการรับรองถ้อยแถลงร่วม (Joint Ministerial Statement of the 36th AMEM) ซึ่งมีประเด็นสำคัญได้แก่
ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน
– ความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยสามารถลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ในปี 2559 ได้ถึง 21.9% เทียบจากปีฐาน 2548 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 20% ภายในปี 2563
– การผลักดันให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building Code) ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างอาเซียนและเยอรมัน (AGEP)
– ยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการจัดทำมาตรฐานขั้นสูง และดำเนินข้อตกลงที่เป็นข้อตกลงในอาเซียน เพื่อยอมรับผลการตรวจสอบด้านพลังงานของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Electrical & Electronic Equipment : ASEAN EE MRA)
การดำเนินงานร่วมกับ IEA ในการพัฒนานโยบายพลังงานและเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและการจัดหาเงินทุนสำหรับอาเซียนในอนาคต
– ริเริ่มจัดทำแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและการจัดหาเงินทุนสำหรับอาเซียนในอนาคต(Capacity Building Roadmap on Energy Investment and Financing) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการลงทุนและการวิเคราะห์ทางด้านการเงินสำหรับโครงการด้านพลังงาน
– จัดทำแนวทางการดำเนินงานที่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
การร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของอาเซียนต่อพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
– อาเซียนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เพื่อผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาเซียนให้ได้ตามเป้าหมาย 23% ในปี 2568 ซึ่งในปี 2559 มีสัดส่วนอยู่ที่ 12.4%
เสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน
– ร่วมมือกับจีน แคนาดา และองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในการสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยและความมั่นคงนิวเคลียร์ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในอาเซียนที่กำลังดำเนินการอยู่ และกฎระเบียบ ความปลอดภัย และความเข้าใจของประชาชนในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์
การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
– มีการเผยแพร่กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดปรับปรุงคุณภาพถ่านหินในอินโดนีเซีย และรูปแบบการจัดหาเงินทุน (Financial Model) ในเวียดนาม เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนถ่านหินในอาเซียน
– ได้มีการส่งเสริมประสิทธิภาพและการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาตรฐานสูงในอาเซียน และไทยได้ริเริ่มการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านถ่านหินที่เกี่ยวข้องกับความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมโลกในช่วงกลางปีนี้
การเสริมสร้างความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการค้าในอาเซียน
– มีสถานีแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลว (Regasification Terminal) จำนวน 8 สถานี ที่สามารถรองรับ LNG จาก 36.3 ล้านตันต่อปี และมีแผนที่ขยายให้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 27 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2568
– การจัดทำแผนแม่บทการซื้อ-ขาย เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและจัดทำร่างสัญญาซื้อขาย LNG สำหรับใช้ในอาเซียน
– มีการเผยแพร่ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper เพื่อสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG ผ่านช่องทางการตลาดที่มีความเชื่อมโยงกัน (ASEAN Common Gas Market) และการศึกษาต่อยอดเรื่อง Small-Scale LNG และ LNG Bunkering
การขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียน
– โครงการซื้อขายไฟฟ้าระดับพหุภาคี LTM-PIP ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่มกราคม 2561 และเริ่มซื้อขายไฟฟ้าแล้ว รวมจำนวน 15.9 ล้านหน่วย ซึ่งที่ประชุมก็ผลักดันให้มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น สิงคโปร์ เมียนมา และให้มีการซื้อขายในลักษณะ Firm Contract
– การศึกษาการจัดตั้งสถาบันเพื่อรองรับการซื้อขายไฟในอาเซียน เพื่อควบคุมระบบไฟฟ้าและวางแผนระบบไฟฟ้าอาเซียน
อย่างไรก็ดี ประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการประชุมครั้งนี้ คือ ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาด้านพลังงานของไทยให้กับที่ประชุม ซึ่งได้รับความสนใจในบทบาทของไทยด้านพลังงานซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเวทีอาเซียนในการช่วยเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงองค์กรชั้นนำด้านพลังงานระดับโลก ที่จะพัฒนานโยบาย และศักยภาพเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยและอาเซียนต่อไป.