จากน่านถึงหลวงพระบาง เส้นทางสู่อนาคต
น่าน-หลวงพระบางถนนสายใหม่ระยะทางเพียง 100 กิโลเมตรจะกลายเป็นลู่วิ่งสู่อนาคตทั้งของไทยและ สปป.ลาว จากการหยิบยืนให้ของรัฐบาลไทย เพื่อเชื่อมโยงสายเลือดทางการค้าของภูมิภาคเออีซี ในปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ได้ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดย สปป.ลาว ที่นิยามตัวเองว่าเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชีย” เป็นผู้ส่งกระแสไฟฟ้า 95 % ของที่ผลิตได้ มาขายให้กับประเทศไทย
ซึ่งในปัจจุบันกระแสไฟฟ้า 60-75% ที่ใช้กันในภาคเหนือของประเทศไทย มาจาก สปป.ลาว และในภาพรวมกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย มาจาก สปป.ลาว 8-10% ขณะเดียวกันรายได้สำคัญของรัฐบาล สปป.ลาว ก็มาจากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย
ประเทศไทย กับ สปป.ลาว มีความเชื่อมโยงระหว่างกันในแง่ของวัฒนธรรม,เชื้อชาติ และศาสนา และเป็นประเทศเดียวในโลก ที่คนไทยสามารถสื่อสารกับคน สปป.ลาว อย่างเข้าใจกันได้ โดยไม่ต้องอาศัยภาษาที่สาม
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทย และ รัฐบาลสปป.ลาว ได้ตกลงสร้างสะพานมิตรภาพข้ามลำน้ำโขงไปแล้ว 6 แห่ง คือ หนองคาย-เวียงจันทน์ ,มุกดาหาร-สะหวันนะเขต , นครพนม-คำม่วน ,บึงกาฬ-บอลิคำไช และอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี-ละครเพ็ง
ขณะที่โครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา ในแขวงไชยบุรี เชื่อม บ้านเชียงแมน ในแขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 114 กิโลเมตร ที่สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ในสังกัดกระทรวงการให้ ให้ความช่วยเหลือเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะกลายเป็นสะพานเชื่อม บนบก ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่ง และจะทำให้ สปป.ลาว ที่เคยถูกกล่าวขานว่า เป็นดินแดนที่ถูกปิดล้อม เพราะไม่มีทางออกทะเล หรือ Land lockไปสู่การเป็นประตูเชื่อมโยงแห่งภูมิภาคนี้ หรือ Land Link ที่สามารถเชื่อม ไทย จีน และเวียดนาม เข้าด้วยกัน
โครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา แขวงไชยบุรี ถึงบ้านเชียงแมน แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 114 กิโลเมตร ซึ่งได้รับวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนจาก NEDA 1.97 พันล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นวงเงินกู้ 80% ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.5% อายุสัญญา 30 ปี ปลอดหนี้ 10 ปี ,ส่วนอีก 20 % ของวงเงินโครงการ เป็นเงินให้เปล่า จะกลายเป็นถนนอีกเส้นหนึ่งของ สปป.ลาว ที่เป็นเส้นทางเชื่อมโยง ไทย-ลาว-จีนตอนใต้ และเวียดนาม ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งความคุ้มค่าเมื่อคิดจาก Economic Return จะอยู่ที่ 14 % เช่น การประหยัดเวลาและพลังงานในการเดินทาง ,มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน จุดผ่านแดนห้วยโก๋นในฝั่งไทย มีมูลค่าการค้าประมาณ 7 พันล้านบาท เมื่อถนนเส้นนี้สร้างเสร็จน่าจะช่วยขยายมูลค่าการค้าให้สูงขึ้น
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านหรือ เนด้า กล่าวว่า เมื่อเส้นทางนี้เสร็จจะทำให้การเดินทางจาก บ้านห้วยโก๋น ในฝั่งไทย ไปถึงหลวงพระบาง สั้นลง จาก 5-6 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
เส้นทางนี้ จะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมโยง แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ถึงสามแห่ง คือ น่าน ซึ่งเป็นเมืองวัฒนธรรมที่สวยงามของภาคเหนือของไทย –หลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกของ สปป.ลาว และเดียน เบียน ฟู ในเวียดนาม ที่เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ครั้งสำคัญที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์สงครามของ
“ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (เมื่อถนนนี้สร้างเสร็จภายในปลาย2561) ที่ทำให้เมืองใหญ่ๆ(ทางเหนือของประเทศ) ที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้โดยรถยนต์” ดร.วรากรณ์ กล่าว
ดร.วรากรณ์ กล่าวอีกว่า คาดว่า เมื่อถนนเส้นนี้แล้วเสร็จ จะทำให้คนเดินทางไปเที่ยวหลวงพระบางเพิ่มขึ้น จาก 5 แสนคน เป็น 1 ล้านคน ซึ่งผลพลอยได้ น่าจะตกอยู่กับจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นต้นทางของเส้นทางและมีสิ่งอำนวยความสะดวก และสถานที่ท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ดร.วรากรณ์ กล่าวในระหว่างการเดินทางโดยรถยนต์ เพื่อสำรวจเส้นทางนี้ทั้ง 114 กิโลเมตร ว่า บางช่วงของเส้นทางที่มีความชัน และโค้งไปมา จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางที่สูงขึ้น ซึ่งจากการประเมินของ NEDA ระบุว่า หลังโครงการนี้เสร็จ คาดว่าจะมีประมาณการจรจรไม่น้อยกว่า 1,500 คัน/วัน ซึ่งหมายถึงโอกาสการขนส่งสินค้าจากน่านไปยังหลวงพระบางที่จะมีมากขึ้น
สภาพปัจจุบันของเส้นทางจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน เป็นถนนลูกรังที่ได้รับความช่วยเหลือจาก ADB ตัดผ่านริมไหล่เขา ในท่ามกลางผืนป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ ที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้สำรวจอย่างจริงจัง นอกจากนี้ เส้นทางสายนี้ ยังตัดผ่านโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ที่เป็นโครงการลงทุนสูงที่สุดใน สปป.ลาว มูลค่า 3.71 พันล้านเหรียญ
ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจของลาว กับบริษัทบ้านปูเพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) และ บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนว(สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มราชบุรีโฮลดิ้ง
ตามรายทางนั้น ที่เลียบไปตามไหล่เขานั้น ยังมีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ที่เขียวขจีเต็มหุบเขา บางช่วงของเส้นทางมีลำธารไหลผ่าน ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านในบริเวณนั้น สร้างสะพานไม้อย่างง่ายๆ เพื่อเป็นทางข้ามผ่าน ขณะทีบางช่วง ก็ยังลำน้ำไหลตกมาจากช่องเขา กลายเป็นน้ำตกเล็กๆริมทาง ,ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ยังสะท้อนจาก ปริมาณพืชตระกูลเฟิร์น ที่ขึ้นอยู่ริมทางเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางช่วงของเส้นทาง ก็ตัดผ่านหมู่บ้านที่เป็นคนพื้นเมืองชนเผ่าของ สปป.ลาว ที่ยังมีความแล้งแค้น
เมื่อเส้นทางนี้สำเร็จ น่าจะเป็นเส้นทางที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ที่ชอบวิถีชีวิตบนอานมอเตอร์ไซด์ ที่จะทำให้สามารถซึมซับธรรมชาติ ได้อย่างใกล้ชิด
นาย Pothong Ngonphachanh รองอธิบดีของกระทรวงโยธา และการขนส่งทางถนนของ สปป.ลาว กล่าวว่าการดำเนินการก่อสร้างเสร็จทางสายนี้ในปัจจุบัน ผ่านมา 5 เดือนแล้ว จากระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 32 เดือน โดยปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 5 %
Mr.Khamkhan Chanthavisouk , เจ้าแขวงหลวงพระบาง กล่าวว่า หลวงพระบาง มีความกังวล ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เมื่อเส้นทางคมนาคมสะดวกมากขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเมืองหลวงพระบาง ที่ถูกยกให้เป็นมรดกโลก โดยยูเนสโก หลวงพระบางจึงจำเป็นต้องเรียนรู้บทเรียนจากเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น เชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยหลวงพระบางมีเป้าหมายให้เป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ
เขากล่าวอีกว่า ปัจจุบันหลวงพระบาง มีโรงแรมและ Resort อยู่ 76 แห่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว 2แห่ง ,3 ดาว อยู่ 5 แห่ง และ 2 ดาว อยู่ 4 แห่ง
นอกจากนี้ยังมี Guest house อยู่ 317 แห่ง และมีร้านอาหาร 286 แห่ง,มีบริษัทท่องเที่ยวอยู่ 76 บริษัท ส่วนแหล่งท่องเที่ยวนั้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติอยู่ 108 แห่ง ,แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 86 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ 34 แห่ง เมื่อเส้นทางนี้สำเร็จ จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของหลวงพระบาง ไปอีกระดับหนึ่ง และทำให้การค้าขายสะดวกขึ้น เพราะเส้นทางนี้จะเป็นทางที่สั้นที่สุด ที่หลวงพระบางจะเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆของไทย
Mr.Bounthieng Soulivanh ,ประธานหอการค้าของแขวงหลวงพระบาง กล่าวว่า จากปัจจุบัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีหลวงพระบาง มีอยู่ราว 5 แสนคน คาดว่าภายในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนหลวงพระบาง ซึ่งปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 43 % ของGDP ของหลวงพระบาง โดยคนหลวงพระบางมีรายได้ต่อหัวที่ 1,532 เหรียญ/คน/ปี
ในปัจจุบันโรงแรมและที่พักของนักท่องเที่ยว มีรวมกันประมาณ 6-7 พันห้อง ยังมีเพียงพอ และปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอีก 4-5 แห่ง แต่ในหลวงพระบาง ยังไม่มีโรงพยาบาลระดับ Premium ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลของไทย เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ ก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุน
การสร้างสะพานมิตรภาพ หรือถนนมิตรภาพ ที่เชื่อมไทยกับ สปป.ลาว ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นนั้น ในท้ายที่สุดจำเป็นต้องนำไปสู่การสร้างความเข้าในระดับประชาชนของสองประเทศ เพื่อขจัดมายาคติที่มีระหว่างกัน และจับมือกันก้าวเดินไปข้างหน้า โดยทิ้งอดีตที่ขมขื่น ที่เคยมีมาระหว่างสองประเทศ เพื่อสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสันติภาพในภูมิภาคนี้.