คิกออฟ “ครม. แพทองธาร 1 ” ปัดฝุ่นนโยบายเรือธง เดินหน้า “ดิจิทัลวอลเล็ต”
เอฟเฟ็กต์จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี พลิกโฉมหน้านายกรัฐมนตรีทันที
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “หักปากกาเซียน” ทุกสำนัก กระเทือนตลาดหุ้นตัวแดงทั้งกระดาน-ร่วงยกแผง ทว่าไม่ถึง 48 ชั่วโมง พรรคเพื่อไทยชิงเก้าอี้เข้าอ้อมกอด ไม่ปล่อยให้เกิดสุญญากาศอำนาจ เปิดช่องให้ “ทหารแก่ในป่า” ตั้งตัว ด้วยการเรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไปคิดอ่านใน “บ้านจันทร์ส่องหล้า” จนสามารถเลือก “แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็น “นายกรัฐมนตรี คนที่ 31” พร้อมกับรัฐบาลที่มาจาก “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” เพื่อมาสานต่องานและนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาไม่ให้ขาดช่วง-ไร้รอยต่อ
เศรษฐา ตกเก้าอี้นายกฯ คนที่สาม
5 ต่อ 4 เสียงข้างมากของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) จากกรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เศรษฐา นับเป็น “นายกรัฐมนตรี คนที่สาม” ที่กระเด็นตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วยอิทธิฤทธิ์ของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คนแรก “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไปเป็นพิธีกรจัดรายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง6โมงเช้า” คนที่สอง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 ให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. แต่ถ้านับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ “อดีตนายกรัฐมนตรี 76 วัน” ที่ไม่เคยเข้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลแม้แต่วันเดียว จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ “ยุบพรรค” พลังประชาชน
แพทองธาร นายกฯ คนที่ 31
319 เสียง ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้ “อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวิตร” เป็นบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31” โดยได้รับคะแนนให้ความเห็นชอบ “เกินครึ่ง” ของที่ประชุมทั้งหมดสภา สส. ซึ่งเป็นการใช้เวลาลงมติโดยเปิดเผย-ขานชื่อทีละคน 491 คน ไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็ได้ “นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สอง” ของประเทศไทย ต่อจาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 28 และเป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่สาม” ที่มาจาก “ตระกูลชินวัตร” ต่อจาก “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” แต่ก็ต้องจับตาว่า “นายกฯตระกูลชินวัตรรุ่นสาม” จะต้องเผชิญวิบากกรรมซ้ำรอย “นายกฯผู้พ่อ” และ “นายกฯอาปู” หรือไม่
ไส้ใน 319 เสียงที่เห็นด้วยให้ “แพทองธาร” เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยมีพรรคเพื่อไทย 139 เสียง พรรคภูมิใจไทย 70 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 39 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 8 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง ขณะที่ 145 เสียงที่ “หัวเด็ดตีนขาด” อย่างไรก็ “ไม่เห็นด้วย” คือ พรรคประชาชน หรือ อดีตพรรคก้าวไกล 143 เสียง กับ 2 พรรคพันธมิตร พรรคละ 1 เสียง ได้แก่ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม.พรรคไทยก้าวหน้า ขณะที่ “พรรคเก่าแก่” พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง ยังคง “สงวนท่าที” บวกกับ “แทงกั๊ก” ลงคะแนน “งดออกเสียง” แบะท่าพร้อมที่จะเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ฟอร์ม “ครม.อุ๊งอิ๊งค์1” ฝุ่นตลบ
คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของนายเศรษฐา “สิ้นสุดลง” ในทางกฎหมาย ส่งผลให้ “ครม.นิด” ต้อง “พ้นทั้งคณะ” เก้าอี้รัฐมนตรี 39 ตำแหน่งต้อง “ว่างลง” จึงเป็นการ “ล้างไพ่” คณะรัฐบาลเพื่อไทย ในยุคที่มีนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ ทำให้การจัด “โผครม.” ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง “จัดยาก” ที่สุด เพราะมีเก้าอี้รัฐมนตรีที่ต้องเปิดทางให้กับ “เลือดใหม่” ในพรรคเพื่อไทยที่เป็น “ทายาทบ้านใหญ่-ตระกูลการเมือง” เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพื่อทำผลงาน และ “ต่อยอด” ในการเลือกตั้งครั้งหน้าปี 70
หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ “แพทองธาร” ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 จะเข้าสู่ช่วงเวลา “ฝุ่นตลบ” เพราะต้องฟอร์ม “ครม.อุ๊งอิ๊งค์ 1” กับพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค “สูตรมาตรฐาน” ในการจัดสรรโควตารัฐมนตรี คือ “1 ต่อ 7” หมายถึง 1 เก้าอี้รัฐมนตรี ต่อ สส.7 คน แม้ “พรรคอันดับสอง” ในพรรคร่วมรัฐบาล คือ “พรรค 70 เสียง” อย่างพรรคภูมิใจไทย จะยืนยันว่า “ยึดโควตาเดิม” ในช่วง “ครม.เศรษฐา” ซึ่งประกอบด้วย 1 รองนายกรัฐมนตรี 4 รัฐมนตรีว่าการ 4 รัฐมนตรีช่วย แต่นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” ไม่การันตีว่าจะเป็นเก้าอี้ตัวเดิม-คนหน้าเดิม
แถลงนโยบาย-เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต
สำหรับ “นโยบายเรือธง” ของพรรคเพื่อไทย ที่ “ตกค้าง” มาจากรัฐบาลเศรษฐา อาทิ นโยบายปราบปรามยาเสพติด “ผู้ว่าซีอีโอ” โครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” คนละ 10,000 บาท ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท พักหนี้เกษตรกร “เฟสสอง” เพิ่มรายได้เกษตรกร 4 เท่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และ ซอฟต์พาวเวอร์ ที่มี “นายกฯอิ๊งค์” เป็นหัวเรือใหญ่ แม้กระทั่งเมกะโปรเจ็กต์ใหม่อย่างโครงการแลนด์บริดจ์ และ “กาสิโนถูกกฎหมาย” การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยังรอให้ “ครม.แพทองธาร” มาสะสาง
รัฐธรรมนูญมาตรา 162 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและต้องชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่จะมาใช้ในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้ารับหน้าที่ รัฐบาลเพื่อไทย ที่มี “นายกฯหญิง” เป็นนายกรัฐมนตรีภาคต่อจากรัฐบาลนายเศรษฐา แต่จะขยับเขยื้อน รื้อ-ร่างนโยบายใหม่แบบยกเข่งจึงเป็นไปได้ยาก เพราะทุกนโยบายบายล้วนเป็นสัญญาประชาคมที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงในการเลือกตั้งปี 66 และการประนีประนอม-รอมชอมกับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีนโยบายสวนทาง-หักกันอย่างสุดขั้ว เช่น นโยบายกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม-รัฐบาลแพทองธารอยู่ครบวาระที่เหลืออีก 3 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ในหลวงโปรดเกล้าฯ “แพทองธาร” นายกฯ คนที่ 31