ทักษิณติดกับดักอำนาจ ก้าวไกลลุ้นพลิกเกมยุบพรรค
การแถลงข้อต่อสู้-ข้อกฎหมายของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นอกศาลรัฐธรรมนูญ คดียุบพรรคก้าวไกล ยังเต็มไปด้วยความหวังว่า สุดท้ายแล้วจะ “พลิกเกม” จากฝ่ายเพลี่ยงพล้ำกลับมาชนะ
กว่า 122 วัน นับตั้งแต่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล จนถึงวันพิจารณาคดีครั้งต่อไป พิธา แถลงข้อต่อสู้ไปแล้ว 2 ครั้ง ยกข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริง และ “ข้อมูลใหม่” หักล้างกระบวนการตามบทบัญญัติในพ.ร.บ.พรรคการเมืองและขั้นตอนทางธุรกิจในระเบียบกกต.ปี 66 โดยศาลรัฐธรรมนูญให้รอฟังผลการตรวจพยานหลักฐานของพรรคก้าวไกล-กกต. ในวันที่ 9 กรกฎาคม 67 และกำหนดวันพิจารณาคดีต่อไปในวันที่ 17 กรกฎาคม 67
ตอกหมุดคดี (ไม่) ยุบพรรค
พิธา แถลงความคืบหน้าข้อต่อสู้ “คดีต่อสู้พรรคก้าวไกลเป็น “ครั้งที่สอง” เป็นการตอกย้ำไปที่กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และ “สองมาตรฐาน” โดยเลือกที่จะใช้พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งเปรียบเสมืองเป็นการส่งพรรคก้าวไกล “ขึ้นทางด่วน” ในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรค ไม่ใช่มาตรา 93 ที่ต้องให้ เลขาธิการ กกต. ในฐานะ “นายทะเบียน” รวบรวมข้อเท็จจริง-พยานหลักฐาน พร้อมกับการเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมการตาม “ระเบียบกกต.” ที่ออกมาในปี 2566 ข้อ 7 และข้อ 9 ที่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้ชี้แจง โดยพิธาได้เปรียบเทียบกับพรรคภูมิใจไทยที่มีผู้ร้องไปยื่น “ยุบพรรค” เช่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มน้ำหนักคำว่า “สองมาตรฐาน” ให้มีน้ำหนักมากขึ้น
ย้อนกลับไปดู 3 หมวด 9 ข้อต่อสู้ คดี “ยุบพรรคก้าวไกล” หมวดแรก เขตอำนาจและกระบวนการ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หมวดสอง ข้อเท็จจริง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 หรือ “คำวินิจฉัย 3/67” ไม่ผูกพันคดียุบพรรคก้าวไกล การกระทำที่โดนกล่าวหา ไม่ล้มล้าง-ไม่เป็นปฏิปักษ์ การกระทำตาม “คำวินิจฉัย 3/67” ไม่ใช่เป็นมติพรรค และหมวดสาม โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ กก.บห. จำนวนปีในการตัดสิทธิต้องได้สัดส่วนกับความผิด และโทษต้องเป็นของกก.บห.ชุดที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น
ข้อมูลใหม่-ข้อเท็จจริงใหม่
ขณะที่ “ข้อมูลใหม่” ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้พรรคก้าวไกลตอบกลับภายใน 7 วัน คำถามข้อแรก พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต.ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของกกต.หรือไม่นั้น พรรคก้าวไกล “ยกคดี” คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่15/2553 “ยกคำร้อง” ยุบพรรคประชาธิปัตย์มาเป็น “บรรทัดฐาน” ที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการพิจารณาของ กกต. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เนื่องจากประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนขณะนั้น “ตกม้าตาย” ไม่ได้ทำความเห็นก่อนส่งเรื่องเข้า กกต. ถือเป็นการดำเนินการทาง “ธุรการ” ที่ “ข้ามขั้นตอน” ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ
คำถามข้อที่สอง การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/67 อาจเป็น “ปฎิปักษ์” หรือไม่ พิธา ยังยืนว่า “ไม่เป็นปฏิปักษ์” พร้อมกับ “แก้ต่าง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็น “ลายลักษณ์อักษร” ว่า “คำวินิจฉัย 3/67” เป็นข้อกล่าวหาในคดี “ล้มล้าง” การปกครอง ซึ่งเป็น “คนละข้อกล่าวหา” กับข้อกล่าวว่าอาจเป็น “ปฏิปักษ์” ดังนั้น และเป็น “คนละคดี” กับ “คดียุบพรรค” ไทยรักษาชาติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าเป็นปฏิปักษ์
จากคุณสมบัติทนายพิชิต-ลุงชาญใจดี
อีกฝั่ง-อีกคดีที่จะส่งผลกระเทือนอำนาจของรัฐบาลเพื่อไทยที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็น “ผู้มีอิทธิพล” ทางการเมือง คือ คดี “คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี” หลังจากศาลรัฐธรรมนูญให้หน่วยงาน-คนที่เกี่ยวข้องทำความเห็นและส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ 15 วัน โดยกำหนดนัดพิจารณาต่อในวันที่ 10 กรกฎคม 67 ซึ่ง “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “ขีดเส้น” คดีต้องจบภายในเดือนกันยายนนี้แน่นอน กับผลการเลือกตั้ง “นายกอบจ.ปทุมธานี” ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ
คดี “ถอดถอน” นายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีที่ “กลุ่ม 40 สว.” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “คุณสมบัติ” ความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ชื่นบาน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทบชิ่งไปถึง “คุณสมบัติ” ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา จนอาจต้องพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ขณะที่ศึกเลือกตั้ง “นายกอบจ.ปทุมธานี” ที่จบลงไปแล้ว โดยมี “ชาญ พวงเพ็ชร์” ที่มี พรรคเพื่อไทย-ทักษิณให้การสนับสนุน เป็น ว่าที่ นายกอบจ.ปทุมธานี แต่ภายหลังพบว่า มี “คดีติดตัว” ในศาลคดีทุจริตประทับรับฟ้องและสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ตอกฝาโลงด้วยความเห็นของกฤษฎีกา เพื่อไม่ให้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีในอนาคต
เพื่อไทย-ทักษิณ ติดกับดักอำนาจ
ปมคุณสมบัติของทั้งสองคดี ทั้งคุณสมบัติของนายพิชิต และคุณสมบัติของนายชาญ สะท้อนให้เห็นถึงการตกหลุม-ติดกับดักอำนาจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง ว่าการมีอำนาจเต็ม และเคยทำสำเร็จมาแล้วในการ “พาทักษิณกลับบ้าน” อย่างเท่ ๆ ไม่ต้องนอนเรือนจำแม้แต่วันเดียว จนบังตาและมองข้ามค่ายกลทางกฎหมายที่พร้อมจะ “เด็ดหัว-เด็ดปีก” เครือข่ายทักษิณได้ทุกเวลา รอเพียงจังหวะ “ก้าวพลาด”
ไม่แตกต่างอะไรกับการทำนโยบาย “จำนำข้าวทุกเม็ด” ในสมัยรัฐบาลน้องสาว หรือ การผลักดันกฎหมาย “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง-นิรโทษกรรมสุดซอย” ในยุค “เผด็จการรัฐสภา-เสียงข้างมากลากไป” จนทำให้มีผู้ออกมาชุมนุมประท้วง-ชัตดาวน์ประเทศ เป่านกหวีดเรียกนายพล-นายทหาร ให้ออกมาจากกรมกอง ยกพล-ยกทัพ เคลื่อยรถถังมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล-รัฐสภา แช่แข็งประชาธิปไตย 9 ปีเต็ม
เมื่อใดก็ตามที่ฝ่าย “อนุรักษนิยมเก่า” เห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีพลังเพียงพอในการสกัด-เตะตัดขาพรรคก้าวไกล หรือแม้แต่กระทั่งเห็นว่า “ทักษิณ” คือ “ภัยคุกคาม” ที่น่ากลัวกว่าคนรุ่นใหม่-หัวก้าวหน้า เมื่อนั้นพรรคเพื่อไทยจะหมดประโยชน์ โดยเขี่ยออกจากกระดานอำนาจทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สว.สายแข็ง ยึดสภาสูง วัดใจ กกต.แขวน-สอยทีหลัง