สว.สายแข็ง ยึดสภาสูง วัดใจ กกต.แขวน-สอยทีหลัง
การเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คน รูดม่าน-เก็บฉากไปด้วยความโกลาหล คนเด่น-คนดัง นักการเมืองอาชีพรุ่นใหญ่-มือสมัครเล่นหน้าใหม่ เครือข่ายตระกูลชินวัตร-หัวคะแนนธรรมชาติ พาเหรดกันตกรอบ-ร่วงระนาว
ผู้สมัคร สว.สายสีแดง-สายสีส้ม อกหัก ไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ชนิดพลิกโผ-หักปากกาเซียน ที่ฟันธงล่วงหน้า คาดหมายให้เป็นประธานวุฒิสภา กินรวบทั้งสภาล่าง-สภาสูง ต้องล้มเลิกความคิดอ่าน และที่หมายมั่นจะเข้ามาเป็นจุดพลิกเกมในการรื้อ-ร่างกติกาสูงสุดอย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอันต้องกลับไปคิดแก้เกมใหม่-เปลี่ยนเกมเล่นไปที่สนามเลือกตั้งอบจ.ในปี 68 เพื่อสร้างฐานเสียงให้แข็งแรงเป็นแรงส่งในการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570
สว.สายแข็ง ยึดสภาสูง
สวนทางกับ สว.สายแข็ง ที่กรูกันผ่านเข้าป้ายผู้ชนะระดับประเทศ โปรไฟล์ไม่ธรรมดา เป็น “ข้าเก่าเต่าเลี้ยง” พรรคการเมืองไม่ใหญ่-ไม่เล็ก ทั้ง “อดีตคนขับรถ” พ่ออดีตนักการเมืองบิ๊กเนม “อดีตลูกน้องเก่า” นักการเมืองรุ่นลายครามบ้านใหญ่ “บริวาร” นักการเมืองนายทุนพรรคการเมืองตัวแปรที่ผูกขาดเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล ที่ทะลุเข้ารอบฉลุย ตั้งแต่ระดับอำเภอและระดับจังหวัด จากกติกาที่ให้เลือกไขว้-เลือกกันเอง มองหน้า-จำเบอร์ของผู้ที่เข้ากาคะแนนให้ โดยใช้ข้อมูลแนะนำตัว 4 บรรทัดหน้ากระดาษเอ 4
ยึดสภาสูง กุมเกมต่อรองรัฐบาลผสม-ถือไพ่เหนือกว่าพรรคแกนนำรัฐบาล ชี้เป็นชี้ตายการอยู่การไปของรัฐบาล เพราะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบคนที่จะเข้ามานั่งบนเก้าอี้องค์กรอิสระ กุมชะตาบัญชีดำ-คดีความของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสารบบอำนาจที่ 4 ไม่นับคดีความของพรรค-พวกตัวเอง ที่รอวันปัดเป่า-บำบัดสุข บำรุงสุข ให้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ไม่ให้อยู่ในสถานะลูกผีลูกคน จากกรรมเก่า-คำตัดสินของตุลาการภิวัฒน์ จนเป็นชนักปักหลังอยู่ในปัจจุบัน
แก้รัฐธรรมนูญ-ไฟเขียว องค์กรอิสระ
แม้สว.ชุดปัจจุบันไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจยังเต็มมือ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสส.และสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา และการใช้เสียงเห็นชอบในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามต้องมี สว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดของ สว. รวมถึงการพิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่าย ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)
นอกจากนี้ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ-ตุลาการ ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะหมดวาระ-สรรหาใหม่ ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์และนายปัญญา อุดชาชน ครบวาระเดือนพฤศจิกายน 67 นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ ครบวาระเดือนเมษายน 70 นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ครบวาระเดือนสิงหาคม 70 และนายอุดม รัฐอมฤต ครบวาระเดือนมกราคม 73
เปิดเงินเดือน-สิทธิประโยชน์
ด้วยกติกาการเลือก สว.รอบนี้ เป็นการเลือกลับ-ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหมดมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง แต่รายได้-เงินเดือนและค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กลับใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน ทั้งเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ สว. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท เงินเพิ่ม เดือนละ 42,330 บาท รวมเดือนละ 113,560 บาท ประธานวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 74,420 บาท และเงินเพิ่ม เดือนละ 45,500 บาท รวมเดือนละ 119,920 บาท รองประธานวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวมเดือนละ 115,740 บาท
นอกจากนี้ยังมีสามารถตั้งคณะทำงานมากินเงินภาษีประชาชน เช่น ที่ปรึกษา ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท นักวิชาการฃเดือนละ 18,000 บาท เลขาธิการเดือนละ 15,000 บาท ผู้เชี่่ยวชาญประจำตัว 1 คน ค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัว สว.จำนวน 2 คน ได้รับค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน ผู้ช่วยดำเนินการของสว.ได้จำนวน 5 คน ได้รับค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน ต้องจับตาว่า จะมี ผู้สมัคร สว.สอบตก – เทคะแนนโหวต มานั่งเป็นที่ปรึกษา-ผู้ติดตามให้ สว.ชุดที่มีข้อกังขาว่า ได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันเพื่อแลกคะแนนโหวตหรือไม่
ล้มโต๊ะ เลือก สว.จัดตั้ง-บล็อกโหวต
ทว่า เส้นทาง สว.200 คน อาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อผู้สมัคร สว.ที่ตกรอบหลายคนออกมาแฉความไม่ชอบมาพากลของการเลือก สว.กันโจ่งครึ่ม ทั้งการส่อไปทางการจัดตั้ง-บล็อกโหวต เช่น มี “พนักงานบริษัท” ในตลาดหลักทรัพย์ติด “ท็อปไฟว์” อยู่ใน “บริษัทเดียวกัน” มาสมัครเลือก สว.ในครั้งนี้ มีการจองโรงแรมเพื่อจัดเลี้ยง มีการขึ้นเวทีปราศรัย “หาเสียง” พบบุคคลที่แต่งตัวเป็น “เสื้อทีมเดียวกัน” เพื่อให้สังเกตได้ง่ายว่าใครเป็น “พวกใคร”
โดยนักร้องอย่าง “สนธิญา สวัสดี” อดีตผู้สมัคร สว. เข้ายื่นคำร้อง อัยการสูงสุด (อสส.) ให้พิจารณาตรวจสอบและส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการเลือก สว. ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคสองหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังได้ไปร้องต่อ กกต.ตรวจสอบการเลือกระดับอำเภอและระดับประเทศ รวมถึงคนที่มี “ต้นทุนทางสังคมสูง” อย่าง “กล้านรงค์ จันทิก” อดีตเลขาธิการป.ป.ช.ในตำนาน ที่ทำหนังสือในนามประธานคณะกรรมาธิการ กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ไปยังประธานกรรมการ กกต. ให้ตรวจสอบว่า การเลือก สว. “ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” ขัดเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่
การเลือก สว.รอบนี้ เต็มไปด้วยข้อกังขา-ร่องรอยความไม่ชอบมาพากล จากคำบอกเล่าของ สว.สอบตก ที่ออกมาเปิดโปงพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทำให้การเลือก สว.ไม่สุจริต-เที่ยงธรรม วัดใจ กกต.ในการใช้อำนาจแขวน-สอยทีหลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : งบปี 68 ยกแรก ฉลุย ภูมิใจไทย คุมเบ็ดเสร็จ 4 กระทรวง 8 แสนล้าน