“ซองเดอร์” ไขปริศนาวันนี้ อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นอย่างไรใน AEC
อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นทางเลือกที่คนทุกเชื้อชาติ ให้ความสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC เป็นโอกาสของผู้ประกอบการกลุ่มอาหารสำเร็จรูป ในการที่จะผลักอาหารเพื่อสุขภาพของไทยเข้าไปเปิดตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าว
วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุย กับผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ “ซองเดอร์” (Xongdur) ของ “ภญ.ภาคินี จิวัฒนไพบูลย์” ซึ่งถือว่า เป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพแบรนด์ไทยรายแรกๆ ที่เข้าไปเปิดตลาดในภูมิภาคอาเซียน
มาทำความรู้จัก “ซองเดอร์” กันก่อน
“ซองเดอร์” เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่แปรรูปมาจากธัญพืช และข้าวกล้อง โดยจุดเริ่มต้นของการซองเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 โดย “คุณสุวรรณา จิวัฒนไพบูลย์” ต้องการเดินตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพ่อหลวงในเรื่องการพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และเนื่องจากเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ อีกทั้งประเทศไทย คือ ครัวของโลก ด้วยแนวคิดนี้ “ซองเดอร์” จึงมุ่งมั่นคัดสรรธัญพืชเต็มเมล็ด “เกษตรอินทรีย์” มาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และปรุงรสด้วยสูตรพิเศษ ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานรับรองระบบสากล เพื่อรองรับการบุกตลาดโลก
สำหรับซองเดอร์เป็นผลิตภัณฑ์ อาหารสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพ ประกอบไปด้วย โจ๊กข้าวกล้องออร์แกนิค, มูสลี่ ธัญพืชไทย ผสมข้าวกล้องงอก, มัลติเกรนซองเดอร์ อาหารเสริมสำหรับเด็ก, เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปออร์แกนิค และที่ขายดีที่สุดในตอนนี้ ก็ต้องยกให้กับสแน็คธัญพืชของซองเดอร์ อร่อยแบบไม่ทอด โดยมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกกว่า 50 รายการ ทางซองเดอร์ ให้ความสำคัญกับวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้ได้สินค้ากลุ่มสุขภาพจากข้าวกล้อง และธัญพืชที่ไม่เหมือนใคร ปัจจุบันซองเดอร์ มีสินค้าวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของประเทศไทย เกือบทุกแห่ง รวมถึงร้านอาหารเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ
เส้นทางการตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ซองเดอร์ ใน AEC
“ภญ.ภาคินี” ผู้ซึ่งได้รับหน้าที่มาดูแลด้านการตลาด ต่อจากคุณแม่ สุวรรณา เล่าว่า หลังจากเรียนจบด้านเภสัชกร ไม่ได้มีโอกาสทำงานตรงกับสายงานที่เรียน แต่ต้องมาช่วยเหลือครอบครัวบริหาร ซองเดอร์ ดูแลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยอาศัยความรู้ด้านเภสัชกร มาใช้กับออกแบบอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมกับพ่วงตำแหน่งที่เธอไม่ถนัดเลย คือ รับหน้าที่ดูแลด้านการตลาด
สำหรับเส้นทางการทำตลาดของซองเดอร์ การเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง พร้อมกับการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในช่วงแรกซองเดอร์ เริ่มต้นจากการเป็นสินค้าโอทอป ก่อนจะพัฒนาขึ้นมาเป็น เอสเอ็มอี และเมื่อครั้งเป็นโอทอปได้รับการคัดสรรให้เป็นสุดยอดโอทอป 5 ดาว ระดับประเทศ ทำให้ได้รับการคัดเลือกร่วมออกบูทในการแสดงสินค้าในประเทศ ลาว และกัมพูชา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศ คนของเขายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ อาจเป็นเพราะการดำเนินชีวิตของคนในประเทศเหล่านั้น ยังลำบากอยู่ ไม่เหมือนปัจจุบัน ก็เลยอาจจะมองข้ามสินค้าที่นำเสนอ ประกอบกับเราเป็นสินค้าพรีเมี่ยม บางครั้งมองว่าราคาสูงเกินไป ทำให้ครั้งนั้นล้มเหลวช่วงเริ่มต้นเปิดตลาด AEC
อย่างไรก็ตามความล้มเหลวในครั้งนั้นไม่ได้ดับฝันของซองเดอร์ ในการเข้าไปตลาด อาหารเพื่อสุขภาพใน AEC เพราะปัจจุบัน ซองเดอร์ ได้มีตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเมื่อต้นปี ได้ตัวแทนจำหน่ายจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนประเทศลาว และกัมพูชา มีสินค้าของซองเดอร์ เข้าไปจำหน่าย เช่นกัน แต่เป็นลักษณะของการหิ้วเข้าไปขาย ยังไม่มีตัวแทนอย่างจริงจัง
ภญ.ภาคินี เล่าถึง ลูกค้าในตลาดอาเซียน ทั้ง 3 ประเทศ มาจากความขยันออกบูท กับหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่า การออกบูทในต่างประเทศ ไม่ใช่ประสบความสำเร็จทุกครั้งไป การไป 10 ครั้ง เราประสบความสำเร็จเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่สิ่งที่เราได้นอกเหนือจากการแมทชิ่ง คือ สินค้าของเราได้มีโอกาสประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทั่วโลกได้รู้จัก และถ้ามั่นใจว่าสินค้าดีจริง มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาด ก็คงไม่ต้องกลัวอะไร ไม่ว่าจะทำตลาดในประเทศ หรือต่างประเทศ ประสบความสำเร็จได้
“ที่ผ่านมาความผิดพลาดในการเปิดตลาดต่างประเทศมาจากเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศก่อน เพราะคำถามแรก ที่ลุกค้าถาม สินค้าของเรามีขายที่ไหนในประเทศไทย และได้รับความนิยมจากคนในประเทศมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนั้นต้องยอมรับว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศมากพอ และเป็นบทเรียนที่ทำให้เราต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ ด้วยการหันมาบุกเบิกตลาดในประเทศอย่างจริงจังในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันประสบความสำเร็จกับตลาดในประเทศ มีสินค้าขายในห้างสรรพสินค้าเกือบทุกแห่ง และมีร้านเพื่อสุขภาพที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ คนไทยรู้จักซองเดอร์มากขึ้น” ภญ.ภาคินี กล่าว
สำหรับลูกค้าของซองเดอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อสายจีนในประเทศนั้น โดยเฉพาะเมนูโจ๊ก เพื่อสุขภาพ เพราะคนจีนชื่นชอบการกินโจ๊กอยู่แล้ว และโจ๊กของเราไม่เหมือนใคร เป็นโจ๊กเพื่อสุขภาพทำจากธัญพืช โดยลูกค้าหลักของเราจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และล่าสุด อินโดนีเซีย ปัจจุบันซองเดอร์ มียอดขายในอาเซียน เพียงร้อยละ 10 จากยอดขายรวมทั้งหมด
AEC ตอบรับกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ มากขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ แม้จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยังมองไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้มากนัก เนื่องจากออร์เดอร์ ต่างประเทศ ส่งไปก่อน ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมองเห็นเป็นรูปธรรม ก็คงต้องรอออร์เดอร์ในครั้งต่อไป
ภญ.ภาคินี มองตลาด AEC ในกลุ่มของอาหารเพื่อสุขภาพว่า น่าจะเริ่มดีขึ้น เพราะอย่างประเทศเพื่อนบ้าน เราจะเห็นว่า เขาตื่นตัวในเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ เช่นเดียวกับคนทั่วโลก จะเห็นได้จากการที่เราเห็นสินค้าของเราไปวางขายในลาว กัมพูชา เวียดนาม แม้ว่าจะยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้น หรือในประเทศมุสลิมเองก็หันมาให้ความสนใจกับสินค้าเพื่อสุขภาพเช่นกัน
จุดมุ่งหมาย “ซองเดอร์” สร้างแบรด์ ไม่ขอเป็น OEM
ทั้งนื้หลังจากนั้นได้ยกระดับเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้เข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานของภาครัฐในหลายโครงการ และได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมออกบูทในประเทศทางแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา อีกหลายประเทศ ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน ปัญหาที่พบคือ กลุ่มประเทศหล่านั้นมองว่า เรายังไม่มีศักยภาพเพียงพอ แม้ว่าเราจะผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล การออกแบบบรรจุภัณฑ์ทีดี เหมาะสม เรียกว่าทุกอย่างผ่านหมด แต่ติดเรื่องความเชื่อมั่นในแบรนด์ที่มาจากประเทศไทย ซึ่งหลายประเทศพอใจ และอยากให้เราผลิตให้ แต่ขอเป็นลักษณะ OEM แต่เราก็ไม่รับที่จะผลิตให้กับแบรนด์ใดๆ หรือประเทศใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าใครต้องการขายสินค้าของเราจะต้องขายภายใต้แบรนด์ของซองเดอร์เท่านั้น
สำหรับภาพรวมของซองเดอร์ ปัจจุบันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมายังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจแต่อย่างใด กำลังการผลิตในตอนนี้ ยังไม่เพียงพอกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 15-20% ยอดขายเกือบ 90% เป็นการขายในประเทศ ส่วนแผนการทำตลาดในต่างประเทศคงจะต้องเดินหน้าต่อไป ประเทศกลุ่ม AEC ยังคงเป็นเป้าหมายหลักที่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มมุสลิม อย่างอินโดนีเซีย และกลุ่มคนเชื้อสายจีน